THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

ที่มา : Assessing Thailand’s New Government’s Climate Policies
วันที่ 13 ตุลาคม 2566
ผู้เขียน : จิตทิพย์ มงคลชัยอรัญญา
นักศึกษาปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
แปลและเรียบเรียงโดย : ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย : Thairath

รัฐบาลใหม่ของประเทศไทยที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสินได้ประกาศชุดนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนหลายรายการทั้งในระดับประเทศและในเวทีนานาประเทศ ที่สำคัญได้แก่การประกาศนโยบายต่อรัฐสภาครั้งแรกและต่อการประชุม Climate Ambition Summit ที่จัดโดยสหประชาชาติในเดือนกันยายน 2023 โดยตั้งเป้าหมายบรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero ภายในปี 2065 แผนการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ส่วนมากจะพึ่งพานโยบายราคาคาร์บอนและการดำเนินการตามแผนพลังงานแห่งชาติเรื่องการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเคยให้คำมั่นที่จะต่อสู้กับภาวะโลกร้อนมาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง ดังนั้นเราจึงควรวิเคราะห์เครื่องมือทางนโยบายเหล่านี้เทียบกับอุปสรรคที่จะเกิดขึ้น ว่าการบรรลุเป้าหมายจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร

การกำหนดราคาคาร์บอน

ความนิยมในการใช้ราคาคาร์บอนมาเป็นเครื่องมือจำกัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่จะใช้ได้ผลหรือไม่กับประเทศไทย?

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศที่ใช้กลไกตลาดเป็นกลยุทธ์หลักในการแก้ปัญหาโลกร้อน หนึ่งในนั้นได้แก่การกำหนดราคาคาร์บอนที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลใหม่นี้ การทำงานของกลไกราคาคาร์บอนเป็นการกำหนดต้นทุนเป็นตัวเงินให้แก่ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปตั้งราคาสินค้าและบริการที่ใช้พลังงานฟอสซิล เมื่อราคาสะท้อนต้นทุนที่เกิดแก่ผู้ผลิต มิใช่แก่สิ่งแวดล้อม เราก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันตามต้องการจนถึงจุดที่สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม แต่ถ้าเราทำให้การปล่อยก๊าซมีราคาที่แพงขึ้น ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคก็จะหันไปหาพลังงานทดแทน

ประเทศไทยเริ่มมีตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจมาตั้งแต่ปี 2016 ทั้งๆที่ยังมิได้กำหนดเพดานปริมาณการปล่อยก๊าซ เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจในประเทศที่ต้องการ “Go Green” ชดเชยการปล่อยก๊าซของตนด้วยการซื้อเครดิตจากโครงการปลูกป่าที่ได้รับการรับรองโดยสถาบัน Greenhouse Gas Management Organization (TGO) ของประเทศ ราคาคาร์บอนเฉลี่ยต่อตันเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 40 ภายใน 6 ปี และมีปริมาณการซื้อขายอยูที่ 1.92 ล้านตันคาร์บอน นักวิเคราะห์ตลาดหลายรายคาดว่าราคาคาร์บอนจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามาตรฐานคาร์บอนเครดิตของประเทศเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาลนี้ด้วยเช่นกัน เพราะจะทำให้บรรษัทข้ามชาตอต่างๆที่เข้ามาลงทุนในประเทศสามารถซื้อคาร์บอนเครดิตในประเทศที่ได้รับการรับรองโดยสถาบันของไทยได้ ซึ่งจะเป็นการปลดล็อคอุปสงค์ของบรรษัทข้ามชาติในตลาดคาร์บอนของไทย นอกจากนี้ไทยยังได้จัดตั้งกลไก Cap-and-Trade เพื่อใช้ขับเคลื่อนระบบการให้คาร์บอนเครดิตและกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณากำหนดอัตราภาษีคาร์บอนสำหรับบางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นก้าวที่สำคัญที่จะทำให้ไทยก้าวหน้าไปกว่าประเทศอื่นๆในกลุ่ม ASEAN ในเรื่องนี้ มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่มีการบังคับใช้กลไกนโยบายกำหนดราคาคาร์บอนตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่ภาษีคาร์บอนนั่นเอง

แม้ว่านโยบายเหล่านี้จะดูก้าวหน้า แต่เรายังไม่เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจนว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นลดลงด้วยเหลุผลสามประการ ประการแรก ราคาคาร์บอนของไทยยังต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มากหรือคิดเป็น 3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันเมื่อเทียบกับ 75 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันในตลาดโลก ซึ่งเป็นอัตราที่ได้รับการรับรองแล้วว่าจะทำให้เราสามารถรักษาอุณหภูมิผิวโลกไว้มิให้สูงขึ้นไปอีกเกิน 2°C ได้

ประการที่สอง การที่ประเทศไทยจะสามารถสร้างระบบตรวจวัดและรับรองปริมาณก๊าซที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลได้หรือไม่นั้นยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ ในปัจจุบัน มาตรฐานการตรวจวัดและรับรองปริมาณคาร์บอนสากลเช่นที่ออกแบบโดย Verra นั้นยังไม่รับรองระบบของไทย นอกจากนี้ TGO เองก็ไม่เต็มใจที่จะปรับระบบของตนเองให้เข้ากับมาตรฐานของ Verra โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเหตุอื้อฉาวใน Verra เกี่ยวกับการประมาณการคาร์บอนที่เกินกว่าความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้เอง การที่ระบบตรวจวัดและรับรองปริมาณคาร์บอนของไทยไม่สอดคล้องกับระบบสากลนั้นจะทำให้ราคาคาร์บอนไม่เพิ่มสูงขึ้นตามนักวิเคราะห์ที่ได้คาดการณ์กันไว้ ทำให้ราคาคาร์บอนที่ต่ำไม่สามารถกระตุ้นให้ภาคธุรกิจหันมาลดก๊าซได้แม้จะมีการนำเอากลไก Cap-and-Trade มาใช้ก็ตาม

ประการสุดท้าย ระบบคาร์บอนเครดิตนั้นถ้าขาดการบริหารจัดการที่ดีแล้วอาจนำไปสู่ผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของที่ดินโครงการหรือที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงได้ หลายประเทศกำลังพัฒนาแบบประเทศไทย ความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกมิได้มีเพียงการลดก๊าซแต่เพียงด้านเดียว แต่ยังร่วมกับการปลูกและฟื้นฟูป่าด้วย ตามทฤษฎีที่ว่าการรักษาพื้นที่ป่าเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินและทำให้ปริมาณก๊าซในบรรยากาศโลกลดลงได้ เมื่อโครงการลักษณะนี้ได้รับการอนุมัติโดย TGO โครงการก็จะสามารถผลิตและจำหน่ายคาร์บอนเครดิตและแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งได้แก่ชุมชนเจ้าของพื้นที่เป็นค่าตอบแทนการใช้ที่ดินและแรงงาน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะลงทุนลงแรงไปมากมาย แต่สมาชิกชุมชนกลับได้รับค่าตอบแทนเพียงร้อยละ 20 ของราคาเครดิต ทั้งๆที่ได้รับผลกระทบจากการอนุรักษ์ เช่นการถูกจำกัดการเข้าเก็บของป่า พืชผักที่เป็นอาหาร เห็ด และฟืน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตประจำวันที่เอื้อให้พวกเขาดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงินตรามากนักในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำเช่นในปัจจุบัน และการกระทำดังกล่าวก็มิได้ส่งผลต่อการเติบโตของป่าแต่อย่างใด

แผนพลังงานแห่งชาติ : ประเทศไทยจะมุ่งสู่สังคมแห่งพลังงานสะอาดหรือไม่?

นอกจากเรื่องของราคาคาร์บอนแล้ว แผนการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศของรัฐบาลไทยขึ้นอยู่กับแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan หรือ NEP) ในขณะที่ราคาคาร์บอนใช้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนด NEP ใช้การแทรกแซงโดยรัฐบาลผ่านทางแผนการปฏิรูปพลังงานจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นแผนที่รวมเอานโยบายอย่างการจัดเก็บอากรสีเขียวเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเลิกใช้ถ่านหิน ภายใต้ระบบอากรใหม่นี้ ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายค่าพรีเมียมเพื่อให้ได้รับพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เพียงพอต่อความต้องการของตน และตามหลักการแล้วค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่ตกเป็นภาระของผู้บริโภคนี้จะถูกนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพลังงานสะอาดต่อไป แม้ว่ารายละเอียดในเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนสะหรับประเทศไทย และดูเหมือนว่า NEP จะเป็นทางเลือกที่น่าพอใจเนื่องจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกของไทยร้อยละ 60 มาจากภาคพลังงาน

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์นโยบายพบว่านโยบายเหล่านี้จะนำประเทศออกจากการใช้ถ่านหินก็จริง แต่จะนำไปสู่ก๊าซธรรมชาติแทนที่จะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน แม้ว่าก๊าซธรรมชาติจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าถ่านหินประมาณร้อยละ 50-60 จากปริมาตรเดียวกัน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติก่อให้เกิดความเสี่ยงในระยะยาวเนื่องจากทำให้ประเทศไม่สามารถหลุดพ้นจากอำนาจของประเทศผู้ค้าพลังงานฟอสซิลและทำให้การใช้พลังงานสะอาดของประเทศช้าขึ้นไปอีก และคำกล่าวอ้างของรัฐบาลที่ว่าก๊าซธรรมชาติเป็นสะพานแห่งการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานจากถ่านหินไปสู่พลังงานสะอาดนั้นเกินความเป็นจริงไปมาก และความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนในก๊าซธรรมชาตินั้นมีสูงมาก

แม้ว่าไทยจะให้คำมั่นสัญญาความร่วมมือแก้ไขปัญหาโลกร้อนในเวทีนานาชาติ แต่คาดว่านโยบายหลักของประเทศจะไม่สามารถทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งยังมิได้กล่าวถึงผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมอีกด้วย และนโยบายนี้ยิ่งล่อแหลมเมื่อคำนึงว่าหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีคนใหม่นี้คือทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเพื่อยกระดับสายการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งบ่งชี้เป็นนัยว่าการปฏิรูปพลังงานคงจะยังไม่เกิดขึ้นภายในเร็ววันนี้ (จบ)


หมายเหตุ    “ความเห็นที่แสดงในบทความนี้ถือเป็นความเห็นของผู้เขียนเท่านั้น”


Social Share