THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ – มูลนิธิชีววิถี

เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในเวทีเสวนาย่อย ปัญหาคาร์บอนเครดิตกับผลกระทบนิเวศ สังคม และการฟอกเขียว
ในงานเวทีนโยบายและวิชาการสาธารณะ กู้วิกฤติโลกเดือด ด้วยมือประชาชน (COP ภาคประชาชน)
วันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2566
ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

1.ความนำ

ปัญหาโลกร้อนที่กำลังกลายเป็นปัญหาโลกเดือดตามคำประกาศของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเมื่อเร็วๆนี้ ทำให้โลกต้องหาทางออกเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว แต่ทิศทางการแก้ปัญหาอาจเบี่ยงเบนไปในทิศทางที่เป็นการโยนภาระความรับผิดชอบไปยังผู้ได้รับผลกระทบ เช่นเกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนา มากกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารซึ่งเป็นผู้ก่อมลพิษหลักหรือไม่ ?

ภายใต้ข้อตกลงปารีสซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่มีผลทางกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่ลงนามใน COP21 ในปี 2015 นั้น  ประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันว่า จะร่วมมือกันเพื่อรักษาระดับการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิผิวโลกไม่ให้เกิน 2°C หรือที่ดีที่สุด 1.5°C เมื่อเทียบกับอุณหภูมิผิวโลกยุคก่อนอุตสาหกรรม (โดยการศึกษาของ IPCC พบว่าโลกจะต้องลดปริมาณการปล่อยแก๊สให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และบรรลุ ‘net-zero’ ภายในปี 2050 จึงจะรักษาระดับการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิผิวโลกไม่ให้เกิน 1.5°C)  ทั้งนี้โดยหนึ่งในกลไกสำคัญของการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนอกเหนือจากการกำหนดให้ประเทศต่างๆต้องลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกตามพันธกรณีแล้ว ยังมีกลไกการค้าคาร์บอนผ่านคาร์บอนเครดิต ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถซื้อโควตาจากกิจกรรมดูดซับคาร์บอนจากผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อหักลบกับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกของกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศของตน  ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development Mechanism) ซึ่งมีมาตั้งแต่พิธีสารเกียวโตได้

การค้าคาร์บอนนั้นถูกกำกับโดยมาตรฐานต่างๆ ซึ่งนอกเหนือจากมาตรฐาน Clean Development Mechanism (CDM) ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติแล้ว ยังมีมาตรฐานอื่นๆ มากกว่า 60 ระบบ[1] เช่น Verified Carbon Standard (VCS) ของ Verra , Gold Standard (GS) ซึ่งพัฒนาโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอื่นๆ  หรือกรณีของประเทศไทยที่มีมาตรฐานคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดแก๊สเรือนกระจกภาคสมัครใจ (CSR-private carbon trading) ตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Project: T-VER) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

การค้าคาร์บอนผ่านคาร์บอนเครดิตจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษในการชะลอการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกโดยหันมาซื้อคาร์บอนเครดิตจากเกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนาผ่านโครงการต่างๆแทน

2.ทำไมต้องเป็นฟาร์มคาร์บอน ทำไมต้องเป็นนาข้าวลดโลกร้อน

ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในลำดับที่ 2 รองจากภาคพลังงาน โดยในระดับโลกสัดส่วนการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากภาคเกษตร ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินมีสัดส่วน 15.2 % เมื่อเปรียบเทียบกับภาคการผลิตอื่นทั้งหมด  ส่วนประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 15.7% ของการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

ในกรณีโครงการเกี่ยวกับการนาลดคาร์บอนนั้น จากข้อมูล International Panel of Experts on Climate Change (IPCC)  ที่ระบุว่าการทำนาคิดเป็นสัดส่วน 11 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในภาคการเกษตรทั้งหมด โดยส่วนใหญ่มาจากการปล่อยแก๊สมีเทน และไนตรัสออกไซด์ (N2O)

อย่างไรก็ตามในกรณีประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับสาขาการผลิตทางการเกษตรทั้งหมด การทำนาข้าวซึ่งมีการปล่อยแก๊สเรือนกระจก 8% ของการปล่อยแก๊สทั้งหมดนั้น มีสัดส่วนการปล่อยแก๊สคิดเป็น 55% ของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในภาคการเกษตรของไทยทั้งหมด

ความสนใจขององค์กรในโครงการนาข้าวคาร์บอนกำลังขยายตัว ปัจจุบันโครงการปลูกข้าวเป็นประเภทโครงการที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองในภาคการเกษตร รองจากระบบการจัดการมูลสัตว์ โดยในฐานข้อมูลของโครงการตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจทั่วโลกของมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ (Berkeley’s Carbon Trading Project database) พบว่ามีถึง 275 โครงการ โดยกว่าครึ่งหนึ่งตั้งอยู่ในประเทศจีน

ในประเทศไทย ฟาร์มคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุด คือการจัดทำโครงการ “Thai Rice NAMA (ไทยไรซ์ นามา)” ซึ่งเป็นการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง (AWD : Alternate Wetting and Drying) เพื่อลดมีเธน โครงการนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก NAMA Facility 513 ล้านบาท ซึ่งมีรัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและ สหราชอาณาจักรเป็นผู้ให้ทุนหลัก ภายใต้การดำเนินงานโดยกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยของไทยใน 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี จำนวน 100,000 ครัวเรือน[2]

และเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้วจะมีการขยายโครงการต่อเนื่อง 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2571) ภายใต้ชื่อ”โครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ” (Thai Rice GCF :  Strengthening Climate-Smart Rice Farming Project) งบประมาณ 102.35 ล้านยูโร โดยแบ่งเป็นงบประมาณสนับสนุนจาก GCF ( Green Climate Fund เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในฐานะหน่วยงานปฏิบัติการของกลไกทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในแนวทางปฏิบัติในการปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)  จำนวน 39.99 ล้านยูโร และงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนจำนวน 62.36 ล้านยูโร  ขยายจำนวนกลุ่มเป้าหมายชาวนาเป็น 250,000 ราย ในพื้นที่ 21 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และที่ราบลุ่มภาคกลาง ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ ชัยนาท อ่างทอง ปทุมธานี สิงห์บุรี อยุธยา สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และ ลพบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 2.8 ล้านไร่[3]

3. ข้าวลดโลกร้อน – การปลูกข้าวในระบบเปียกสลับแห้ง

การทำนาข้าวแบบเปียกสลับแห้ง (AWD : Alternate Wetting and Drying) เป็นวิธีการทำนาที่สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ดัดแปลงมาจากการทำแบบ SRI  (System of Rice Intensification)  ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากแนวปฏิบัติของบาทหลวงเยซูอิทชื่อ อองรี เดอ เลาลานี ( Henri de Laulanié) ที่สังเกตการเติบโตของข้าวและปรับให้การปลูกข้าวสอดคล้องกับระบบนิเวศที่เหมาะสมในมาดากัสการ์ตั้งแต่ทศวรรษ 1960   การปลูกข้าวแบบ SRI เป็นการปลูกข้าวแบบต้นเดียว โดยมีระยะห่างที่เหมาะสม ใช้น้ำเฉพาะช่วงที่จำเป็น เพื่อให้ข้าวสามารถแตกกอและเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่และให้ประสิทธิภาพสูงกว่านาน้ำขัง  ในช่วงทศวรรษ 1990  Norman Uphoff นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Cornell ได้นำ SRI ไปส่งเสริมในหลายประเทศทั่วโลก โดยพบว่าสามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 50% และลดความต้องการเมล็ดพันธุ์ได้ถึง 90% ทั้งยังสามารถเพิ่มผลผลิตข้าว และลดต้นทุนปัจจัยการผลิตจากภายนอกไปพร้อมๆกันด้วย

IRRI ได้นำ SRI ไปดัดแปลงและเผยแพร่ภายใต้ชื่อ AWD : Alternate Wetting and Drying  ในช่วงทศวรรษ 1990- 2000 โดยเน้นหนักที่การควบคุมน้ำและการให้ปุ๋ยที่เหมาะสม เพื่อเป็นนวัตกรรมของ IRRI ในการลดโลกร้อน พร้อมทั้งสร้างเพลตฟอร์มข้าวยั่งยืน (The Sustainable Rice Platform)  ที่รวมหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมการข้าวของไทย GIZ องค์กรการเงิน หน่วยงานรัฐบาล เอกชนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมข้าว เช่น ซีพี Olam  รวมทั้งบริษัทเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ เช่น ไบเออร์ ซินเจนทา BASF คอร์ทีวา รวมมากกว่า 100 หน่วยงาน ในการขับเคลื่อนร่วมกัน [4]

การทำนาข้าวแบบเปียกสลับแห้ง มีการดำเนินการโดยการใช้เทคนิค 4 ป. คือ 1) ปรับ: ปรับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ 2) เปลี่ยน: เปลี่ยนดินและน้ำ ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง 3) ปุ๋ย: ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และ 4) แปร: จัดการฟางและตอซัง

ข้อจำกัดของ AWD คือ เหมาะสมกับการทำนาในระบบชลประทานที่มีการควบคุมน้ำได้ เหมาะสมกับดินที่มีเม็ดดินละเอียดอุ้มน้ำได้ดี แต่ก็มีรายงานพบว่าในดินเหนียวอาจมีผลกระทบทำให้เกิดการปล่อยแก๊ส NO2 เพิ่มขึ้น[5] และไม่ได้เหมาะกับดินที่เป็นดินทราย รวมทั้งบริเวณที่ไม่สามารถควบคุมระบบน้ำได้ เป็นต้น

4. ประโยชน์ของการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

IRRI ระบุว่า การทำนาแบบเปียกสลับแห้งลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ 30- 70% ลดปริมาณการใช้น้ำลงได้ประมาณ 30%[6] เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้น โดยไม่ได้ทำให้ผลผลิตลดลง และในระยะยาวชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขาย carbon credit [7] อย่างไรก็ตาม ชาวนาจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จากค่าปรับระดับแปลงนาไร่ละ 2,500-3,000 บาท ที่ใช้ได้ 3 ปี (6 ฤดู) ต้นทุนการกำจัดหญ้า ข้าวดีด ข้าวเด้ง และต้นทุนการบันทึกข้อมูลการจัดการนาและตรวจระดับน้ำ เพื่อส่งให้บริษัทที่รับซื้อ carbon credit[8]

นายวราวุธ ศิลปอาชา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คาดการณ์ในแง่บวกเกี่ยวกับศักยภาพในการขายคาร์บอนเครดิตจากภาคเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมการทำนาแบบ AWD ไว้ เมื่อมองจากเป้าหมายสู่ภาวะ ‘คาร์บอนเป็นกลาง’ หรือ Carbon Neutral ในปี 2593 และปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Carbon ภายในปี 2608 ของประเทศไทยนั้น  “เราคาดว่า อีก 2 ปีจากนี้ไปจะเป็น Peak Year ของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกของประเทศไทย โดยไทยจะปล่อยแก๊สเรือนกระจกอยู่ที่เกือบ 390 ล้านตันคาร์บอน ฉะนั้น กว่าจะไปถึงปี 2593 และ 2608 แต่ละภาคส่วนจะต้องมีมาตรการในการลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกให้ได้ และต้องทำให้สอดคล้องกับแผนระยะสั้นและระยะยาว” การขายคาร์บอนเครดิตจะเปิดกว้างขึ้น  โดยในกรณีนาข้าวนั้น “ประเทศไทยมีนาข้าวทั้งสิ้น 60 ล้านไร่ ถ้าไร่หนึ่งขายคาร์บอนเครดิตปีละ 500 บาท ก็เท่ากับเราได้ 3 หมื่นล้านบาทที่อยู่ในกระเป๋าชาวนา เป็นการลดหนี้สินครัวเรือนให้ชาวนาทุกคน”  โดยที่ “ ไม่ว่ารัฐมนตรีคนไหนเข้ามา หรือรัฐบาลไหนจะได้รับเลือกเป็นรัฐบาลต่อไป ทุกคนจะถูกบังคับให้ต้องทำทั้งเรื่องการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก หรือการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป โดยปัจจุบันไม่ใช่ ‘ทางเลือก’ แต่เป็น ‘ทางรอด’ ของประเทศในการยืนอยู่บนสังคมโลก”

5. ความเป็นจริงของฟาร์มคาร์บอน[9]

รายงานของ Climate Home News  ระบุว่า บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ เชลล์ ร่วมกับ PetroChina บริษัทน้ำมันของจีน ได้จัดทำโครงการชลประทานที่จะลดการปล่อยแก๊สมีเทนในนาข้าวของจีน   อย่างไรก็ตามพบว่ามีการใช้  “กลอุบายทางบัญชี” เพื่อทำให้เห็นว่ามีการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเกินจริง โดยบริษัทที่ทำหน้าที่ในการรับรองโครงการที่ชื่อ Verra กำลังพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวอื่น ๆ ที่คล้ายกันกับโครงการชดเชยคาร์บอนในส่วนอื่นๆของโลกด้วย การเปิดเผยของ Climate Home News ทำให้มีการชะลอการดำเนินข้างต้นในจีน แต่ยังมีโครงการอื่นๆอีกหลายสิบโครงการในพื้นที่ปลูกข้าวในเอเชียและที่อื่นที่อ้างว่าเป็นการทำนาคาร์บอนลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

ที่เวียดนาม มีการดำเนินโครงการปลูกข้าว AWD เช่นกัน โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่ประสบผลสำเร็จมากที่สุด มีการดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าว 184,000 เฮกตาร์ ภายใต้เงินสนับสนุน 238 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารโลก และเมื่อต้นปี  2023 กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนามประกาศว่าพวกเขาวางแผนที่จะขยายโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ถึงหนึ่งล้านเฮกตาร์ มีการขายคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานแบบเดียวกับโครงการปลูกข้าวที่มีข้อโต้แย้งมากของเชลล์ในจีน และขณะนี้อยู่ภายใต้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเนื่องจากข้อกังวลด้านความซื่อสัตย์


โครงการเหล่านี้มักจะอ้างว่าคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจะเป็นการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร ซึ่งในความเป็นจริงราคาคาร์บอนเครดิตที่จ่ายให้กับเกษตรกรมีความผันผวนและค่อนข้างต่ำ โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 15 ถึง 30 เหรียญสหรัฐต่อเอเคอร์ต่อปี (196-391 บาท/ไร่/ปี) เท่านั้น   (จากการตรวจสอบล่าสุด เมื่อปี 2565 ไทยมีการซื้อขายเครดิต TVERs ปริมาณ 1.19 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) มูลค่า 128.50 ล้านบาท หรือราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยต่อตันอยู่ที่ 108.22 บาท เท่านั้น)[10]

บริษัทธุรกิจการเกษตรบางแห่ง ได้เริ่มเชื่อมโยงการขายผลิตภัณฑ์ของตนเข้ากับคาร์บอนเครดิตจากการทำนา เช่น Netafim บริษัทชลประทานของอิสราเอลกำลังเสนอคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนาที่ซื้อและใช้อุปกรณ์ชลประทานของบริษัท บริษัทชลประทานอ้างว่าการใช้อุปกรณ์ให้น้ำแบบหยดแทนระบบให้น้ำแบบท่วมตามปกติ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะได้รับคาร์บอนเครดิต 10 ตันต่อเฮกตาร์ต่อปี Netafim ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการและรับรองว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมปฏิบัติตามขั้นตอนบางอย่างและส่งข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตรวจสอบสำหรับการขายคาร์บอน โดยชาวนารายย่อยต้องจ่ายเงินเพื่อลงทุนในการซื้ออุปกรณ์ชลประทานล่วงหน้า และ Netafim จะแบ่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรภายหลังหากขายคาร์บอนเครดิตได้

ธุรกิจเกี่ยวกับทำนาคาร์บอนยังขยายไปสู่เรื่องเมล็ดพันธุ์ด้วย โดยในปี 2558 ทีมนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกา จีน และสวีเดนอ้างว่าได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ปล่อยมีเทนน้อยลง สายพันธุ์ใหม่นี้ได้รับการดัดแปลงด้วยยีนเดียวจากข้าวบาร์เลย์เพื่อเปลี่ยนการสังเคราะห์ด้วยแสงของข้าวจากรากไปยังส่วนของพืชเหนือพื้นดิน ขณะนี้พันธุ์ข้าวอยู่ระหว่างการทดลองภาคสนามเป็นเวลา 3 ปีในประเทศจีน

บริษัทเมล็ดพันธุ์ได้ใช้วิกฤติสภาพภูมิอากาศเพื่อขยายธุรกิจโดยส่งเสริมพันธุ์พืชที่ “เป็นมิตรกับสภาพอากาศ” ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 บริษัทไบเออร์ได้เปิดตัวความร่วมมือกับสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติและ USAID เพื่อแนะนำและดำเนินการทดสอบในฟาร์มของพันธุ์ข้าว ClimateSmart ซึ่งอ้างว่าใช้น้ำน้อย ไบเออร์มอบ “การสนับสนุน” มูลค่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับโครงการนี้

6. ข้อสังเกต
1) เป็นความจริงที่เกษตรกรรมและระบบอาหารขนาดใหญ่เป็นแหล่งปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่สำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งรวมถึงเกษตรกรรายย่อยทั่วโลกที่ปลูกข้าวรวม 165 ล้านเฮกตาร์ทั่วโลกด้วย แต่ก็ไม่มีเหตุผลที่จะลดการปล่อยแก๊สจากนาข้าวขนาดเล็กเพื่อเอื้ออำนวยให้อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษอื่นๆ สามารถรักษาระดับการปล่อยมลพิษไว้ได้ต่อไป อุตสาหกรรมพลังงานซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยแกสเรือนกระจกในระดับโลกมากกว่า 70% ต้องรับผิดชอบในการปล่อยแกสเรือนกระจกจากภาคการผลิตของตน ไม่ควรผลักภาระให้เกษตรกรรายย่อย เช่น ชาวนา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลิตอาหารเพื่อคนส่วนใหญ่ของโลกต้องเป็นผู้รับภาระแทนผ่านการค้าขายคาร์บอนเครดิต

2) การส่งเสริมการทำนาเชิงเดี่ยว AWD โดยอ้างเรื่องผลประโยชน์จากการค้าคาร์บอนเครดิต ก็เป็นวิธีคิดเชิงเดี่ยว มุ่งเรื่องคาร์บอน (แต่ไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม) แทบไม่แตกต่างกับการส่งเสริมการทำนาเคมีเชิงเดี่ยวในยุคปฏิวัติเขียวที่ผลักดันโดย IRRI นั้นเอง โดยไม่ตระหนักว่าการทำนาเชิงเดี่ยวนั้นก่อให้เกิดผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมหลายประการ เช่น การพึ่งพาการใช้ปุ๋ยและสารเคมี การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ การระบาดของโรคแมลงและศัตรูพืช ไม่นับการใช้งบประมาณเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น ชลประทานขนาดใหญ่ เพื่อตอบสนองต่อการผลิตข้าวหลายรอบต่อปี เป็นต้น  ไม่น่าแปลกใจที่ในที่สุดแล้วการทำนาคาร์บอน AWD ก็แวดล้อมไปด้วยภาคีจำนวนหนึ่งที่ประกอบไปด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตร เมล็ดพันธุ์ และเคมีการเกษตร และอาจรวมด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆที่ได้ประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากการค้าคาร์บอน แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับนิเวศเกษตรแต่ประการใด

3) มีระบบการผลิตและการบริโภคเช่นการฟื้นฟูระบบนิเวศเกษตรและส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการลดแกสเรือนกระจก ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า/ปลอดภัยกว่า และสร้างความเป็นธรรมในระบบเกษตรกรรมและอาหารมากกว่าการส่งเสริมนาคาร์บอนเชิงเดี่ยว ตัวอย่างเช่น การทำเกษตรแบบผสมผสาน การเลี้ยงปลาในนาข้าว หรือรูปแบบเกษตรเชิงนิเวศอื่นๆ

งานศึกษาเรื่อง การประเมินบริการระบบนิเวศของการเลี้ยงปลาในนาข้าว ของ Noppol Arunrat and Sukanya Sereenonchai[11] คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ภาพของบริการระบบนิเวศที่เกิดขึ้นจากเกษตรเชิงนิเวศว่า มีคุณค่าในหลายด้านมากกว่าการปลูกข้าวอย่างเดียว[12]  โดยจากการศึกษาใน 11 จังหวัดจากคู่เปรียบเทียบกับการทำนา 2 แบบที่มีเงื่อนไขใกล้เคียงกันพบว่า การเลี้ยงปลาในนาข้าวสามารถตรึงแร่ธาตุ อินทรียวัตถุ และลดการปล่อยแกสเรือนกระจกดีกว่า 9.8% หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่าถึง 2.1 ล้านบาท/แฮกตาร์/ปี อีกทั้งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25.4%

4) AWD หรือ SRI

ดังที่กล่าวในเบื้องต้นเกี่ยวกับที่มาของ AWD แล้วว่าพัฒนามาจาก SRI และปรับให้เข้ากับแนวทางของ IRRI แต่ SRI เป็นแนวทางที่พัฒนามาจากท้องถิ่นอีกทั้งยังได้พัฒนาต่อเนื่องจนปันจุบันได้พัฒนามาเป็น SRI+ ซึ่งหมายถึงการผสมผสานแนวทางปฏิบัติของ SRI เข้ากับนิเวศเกษตร/เกษตรนิเวศ เช่น  การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM), การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชสวน, การจัดการฟางข้าวแบบอินทรีย์ การใช้ถ่านชีวภาพ การปรับปรุงดินโดยพืชตรึงไนโตรเจน เป็นต้น  SRI จึงอาจตอบโจทย์เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและอื่นๆได้มากกว่า

โดยทั่วไปการจัดการน้ำแบบ AWD และ SRI มีผลต่อการปล่อยแกสเรือนกระจกใกล้เคียงกัน แต่วิธีการปลูกข้าวแบบ SRI สร้างระบบรากที่แข็งแรงและขยายออกไปมากกว่าทำให้ตรึงคาร์บอนได้มากกว่า และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ดีกว่า วิธีปฏิบัติใน SRI+ ซึ่งเน้นที่การดูแลดินในอุดมสมบูรณ์โดยไม่พึ่งพาปุ๋ยไนโตรเจน ยังเป็นการลดไนตรัสออกไซด์ได้ดีกว่าอีกด้วย

เครือข่าย SRI ให้ข้อสังเกตว่า การส่งเสริม AWD นั้นมุ่งไปที่การบรรเทาปัญหาสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น พวกเขาจึงมุ่งลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการปลูกข้าวและมีตัวชี้วัดนี้เพียงอย่างเดียว และแม้จะคล้ายกันแต่ AWD ถูกมองว่าเป็นตัวเลือกที่ง่ายกว่า อย่างไรก็ตามการมีตัวชี้วัดเดียวนี้ ทำให้โลกและชาวนาสูญเสียผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นมากมายจากวิธีปฏิบัติแบบองค์รวมมากกว่าของ SRI และ SRI+ [13]

7. ข้อเสนอ

ฟาร์มคาร์บอนในรูปแบบต่างๆ นั้น เกิดขึ้นจากการมีกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยแกสเรือนกระจกของอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ ผนวกกับ การมีรูปแบบเกษตรกรรมที่ออกแบบให้เอื้ออำนวยกับการผลิตเชิงเดี่ยวที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่เป็นอยู่มากกว่าจะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตและการบริโภคเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ( ซึ่งไม่ได้มีแค่การปล่อยแก๊สเรือนกระจก แต่ยังมีเรื่องการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การปล่อยสารพิษในระบบนิเวศ เป็นต้น ) อย่างแท้จริง

จึงควรปรับเปลี่ยนนโยบายที่เกี่ยวข้อง ในทิศทางดังต่อไปนี้

  1. การใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และการคลัง โดยเฉพาะหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon tax) สำหรับผู้ปล่อยแกสเรือนกระจกและผู้ก่อมลพิษอื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัว ไปใช้เทคโนโลยีที่สะอาด ในขณะเดียวกันต้องนำภาษีที่เก็บได้นำไปใช้สำหรับการปรับตัวของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  โดยปัจจุบันมีเกือบ 30  ประเทศ ที่มีระบบภาษีดังกล่าวแล้ว (โดยเก็บภาษีคาร์บอนระว่าง 1-137 เหรียญสหรัฐต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน)  พร้อมกับการมีระบบการจำกัดโควตา (Emission Quota )การปล่อยแกสเรือนกระจกสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ก่อมลพิษในปริมาณมากให้ลดการปล่อยแกสเรือนกระจกตามมา แต่ไม่ควรกำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายโควต้าสิทธิในการปล่อยแกสเรือนกระจก เพื่อป้องกันมิให้มีการนำสิทธิดังกล่าวไปรักษาสถานการณ์ปล่อยมลพิษต่อ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในกรณีการค้าคาร์บอนเครดิต
  • ปรับเปลี่ยนงบอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามียอดเฉลี่ยปีละกว่า 150,0000 ล้านบาท นำไปสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตของเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องข้าวที่มีการปล่อยแกสเรือนกระจกในสัดส่วนมาก โดยอยู่ในเงื่อนไขของการสนับสนุนมากกว่าเป็นเงินให้เปล่าดังที่ผ่านมา และเพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณของรัฐ งบสนุนดังกล่าวควรนำมาจากภาษีคาร์บอน หรือภาษีอื่นๆที่ก่อให้เกิดมลพิษของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
  • พุ่งเป้าไปสู่การปรับเปลี่ยนแบบแผนเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่ก่อให้เกิดการปล่อยแกสเรือนกระจก และก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นเกษตรกรรมเชิงนิเวศในรูปแบบต่างๆ ไม่ใช่มุ่งส่งเสริมรูปแบบเกษตรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น  AWD เหมือนที่เป็นอยู่ โดยใช้เกณฑ์ตัวชี้วัดความสำเร็จที่มากไปกว่าการปล่อยแกสเรือนกระจก แต่คำนึงบริการทางนิเวศอื่นๆทั้งหมดประกอบกัน เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ การลดมลพิษ เป็นต้น
  • ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของคณะกรรมการในกลไกต่างให้เกิดการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรายย่อย และภาคประชาสังคม พร้อมกับกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มิใช่กระจุกอยู่ในส่วนกลาง และกำกับโดยหน่วยงานของรัฐ และเอกชนรายใหญ่เป็นหลัก และอาจรวมไปถึงการทบทวนแผนปฏิบัติการและการดำเนินงาน ดังกรณียุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ BCG ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นยุทธศาสตร์ฟอกเขียว เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นต้น

การเห็นหน่วยงานของรัฐ และการมีส่วนของภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งนักการเมืองรุ่นใหม่ที่สนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นเรื่องดี รวมทั้งโครงการแบบ AWD ที่มุ่งลดการปล่อยมีเธนในนาข้าว แต่ควรอยู่ภายใต้กรอบวิธีคิดที่มองความเป็นจริงของปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกทั้งหมด ไม่ใช่การต่อเวลาให้อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษและแบบแผนการผลิตบริโภคที่ก่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังคงดำเนินงานแบบเดิมในโฉมหน้าใหม่ต่อไป แต่ต้องปรับวิธีคิด และมองเห็นทิศทาง เพื่อดำเนินงานที่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง 


[1] World Bank 2021

[2] https://www.thai-german-cooperation.info/th/germany-lauds-thai-rice-nama-as-a-model-project-for-low-emission-rice-production-and-sustainable-farming/?fbclid=IwAR07G525NWSyTEC-p5Oh12ariPg569s8PP-GJBR59qQapjbLudmn2IgTp9A

[3] เอกสารของกรมการข้าว 2566

[4] เว็บไซท์ของ IRRI และ เอกสารของกรมการข้าว (2566)

[5] CGIAR Research Program on Climate Change, Agriculture and Food Security

International Rice Research Institute (IRRI)

[6] International Rice Research Institute (IRRI) / Climate and Clean Air Coalition (CCAC) – 2020

[7] https://www.prachachat.net/economy/news-958822

[8] https://tdri.or.th/2023/08/alternative-wetting-and-drying-rice/

[9] บางส่วนจาก https://grain.org/en/article/7009-carbon-rice-farming-a-license-to-pollute-at-the-expense-of-small-farmers?fbclid=IwAR2B-kNk0uWTzPJ_6D-xYzUgLMRy6O7Fyf2c7HuMzU-ZQn8qHmDgS0EsBEU

[10] https://www.jsccib.org/post/knowledge01-100466

[11] Arunrat, N.; Sereenonchai, S. Assessing Ecosystem Services ofRice–Fish Co-Culture and RiceMonoculture in Thailand. Agronomy 2022, 12, 1241.

[12] งานวิจัยนี้เปรียบเทียบบริการนิเวศกับการเลี้ยงปลาในนาข้าวกับการทำนาเชิงเดี่ยว แต่ก็สามารถนำมาเทียบเคียงให้เห็นบริการของระบบนิเวศ และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจด้านต่างๆกับการทำนาเชิงเดี่ยว AWD เพื่อลดคาร์บอนได้

[13] https://www.sri-2030.org/what


Social Share