THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย  DREW PENDERGRASS และ TROY VETTESE
วันที่ 2 มิถุนายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย    ปิโยรส ปานยงค์
อ้างอิง   https://www.noemamag.com/planning-an-eco-socialist-utopia/

(ต่อจากวันเสาร์ที่แล้ว)

ข้อสรุปของ Otto Neurath มาจากการศึกษาตัวอย่างทางเศรษฐกิจทั้งที่เกิดขึ้นในอดีตและกรณีร่วมสมัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหน่วยวัดทาง “ธรรมชาติ” ของวัตถุเชิงกายภาพ ไม่ใช่เงินตรา ในปี 1906 เขาได้แต่งวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องระบบเศรษฐกิจที่ปราศกากเงินตราของอียิปต์โบราณจนเสร็จสมบูรณ์ เขาเชื่อว่าเงินตรามิได้เป็นตัวแทนของความก้าวหน้าของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเนื่องจาก “ระบบเศรษฐกิจแห่งท้องพระคลังขนาดใหญ่ของฟาโรห์ แผนกบัญชี ระบบค่าแรงและสถาบันอื่นๆที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าระบบเงินตราของกรีกเมื่อสี่ร้อยปีก่อนคริสตกาลเป็นอันมาก”

Neurath ใช้แนวคิดจากระบบเศรษฐกิจของอียิปต์โบราณนี้มาศึกษาเศรษฐกิจในช่วงเวลาแห่งสงครามอย่างสงครามบอลข่าน (1912-13) และสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและพบว่าการคำนวณด้วยสัจธรรมทางธรรมชาติคือการแก้ปัญหาตรรกะปลอม เพราะในที่สุดแล้วเราจะไม่พบว่ามี “หน่วยวัดในยามสงคราม” ที่จะมาช่วยบรรดานายพลในการวางแผนการรบ สิ่งที่สำคัญได้แก่สิ่งที่ไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ นั่นก็คือเส้นทางเดินเรือ กำลังเครื่องยนต์ ระยะทำการของปีน คลังกระสุนและเสบียง ในช่วงเวลาแห่งวิกฤตินั้น ราคาไม่มีความหมายอะไร

อีกยี่สิบปีต่อมาหลังจากที่ Otto Neurath ได้สร้างทฤษฎีความน่าจะเป็นในสังคมนิยมธรรมชาติขึ้น โปรแกรมทำนายผลเชิงเส้นของ Kantorovich ก็ได้ให้สิ่งที่อาจเรียกว่าเป็นวิธีการที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเป็นครั้งแรก กล่าวคือแทนที่จะลดทุกปัจจัยลงมาให้อยู่ในระดับสากลที่เท่าเทียมกัน (เช่นราคา) Kantorovich สามารถสร้างสมดุลในข้อจำกัดของหน่วยวัดทางธรรมชาติของโครงการต่างๆที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน เช่นเหล็กเป็นตันหรือกระแสไฟฟ้าเป็นวัตต์ ในขณะที่ยังไม่มีกลไกใดที่สามารถจัดการระบบที่ซับซ้อนสูงอย่างเศรษฐกิจได้ โปรแกรมทำนายผลเชิงเส้นนี้ถือเป็นการปฏิรูปแนวความคิดแห่งทฤษฎีการวางแผน โปรแกรมได้ให้แนวทางจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นระบบและปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในด้านที่ต้องการ ซึ่งหมายความว่าทันทีที่ผู้วางแผนสามารถเชื่อมโยงข้อจำกัดทางทรัพยากรของระบบเศรษฐกิจหนึ่งเข้าด้วยกันโดยใช้ภาษาคณิตศาสตร์ แผนการผลิตและกระจายสินค้าก็จะตามมาเองโดยไม่ต้องพึ่งพากลไกตลาด แม้แต่คอมพิวเตอร์ที่มีใช้ในยุค 1940 Kantorovich ก็ยังสามารถ “ตั้งโปรแกรม” ให้แก่สหภาพโซเวียตได้

ในหลายๆด้าน Kantorovich เปิดรับสหภาพโซเวียตหลังสงครามที่มีอนาคตที่สดใสของสตาลิน การก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางศาสตร์แห่ง Cybernetics และอวกาศดูเหมือนว่าจะนำมาซึ่งสังคมนิยมที่อุดมสมบูรณ์และเป็นมิตร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีเหล่านี้เกิดขึ้น ระบบ Linear Programming ของ Kantorovich กลับทำงานผิดพลาดด้วยเหตุผลสองข้อ ข้อแรก หลังจากเหตุการณ์ปรากสปริงในปี 1968 สิ่งใดก็ตามที่มีตรา “ตลาดสังคมนิยม” (ระบบที่คนยุค Kantorovich รับมรดกมาจากคนยุคก่อนหน้า) ประทับอยู่นั้นประสบกับภาวะเสื่อมทรามลง ทำให้เหล่านักปฏิรูปไม่สามารถพัฒนาเครื่องมือเพื่อการวางแผนสำหรับประเทศที่อ่อนกำลังลงได้ ข้อที่สอง เมื่อสหภาพโซเวียตมิได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย นั่นหมายความว่าสังคมไม่สามารถรวมตัวกันเป็นแนวร่วมทางการเมืองใหม่ที่เข้มแข็งพอที่จะต่อสู้กับผลประโยชน์ส่วนตนของนักวางแผนนโยบายเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ เพราะการปฏิรูปเศรษฐกิจจะลิดรอนอำนาจในการกระจายทรัพยากรของเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ นักปฏิรูปอาจสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงงานหรืออุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่ไม่ใช่กับทั้งประเทศ แม้แต่เทคโนแครตที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง Kantorovich ยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตเป็นระบบปราศจากเงินตราที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าได้เพราะขาดการรณรงค์จากภาคประชาสังคมที่จะช่วยให้เขาเอาชนะฝ่ายตรงข้ามในพรรคคอมมิวนิสต์ได้

Otto Neurath ระบุไว้จัดเจนว่าสังคมที่มีจิตสำนึกเป็นจุดแข็งทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งกว่าทุนนิยมมาก แต่ต้องใช้ประชาธิปไตยเพื่อป้องกันอำนาจเผด็จการและเพื่อกำกับดูแลการผลิตและกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง ในกรณีเช่นนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า Linear Programming ยังไม่อาจสร้างสังคมในอุดมคติได้เว้นแต่ว่าจะนำไปใช้กับโครงการที่มีความเป็นเสรีนิยม ดังนั้นประชาธิปไตยจึงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับประเทศสังคมนิยมในสภาพแวดล้อมที่เป็นโลกาภิวัตน์ ที่ซึ่งแต่ละพื้นที่มีบทบาทของตนเองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการวางแผนเศรษฐกิจเช่นนี้จะต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษในการปกป้องประชาชนนกลุ่มเปราะบางจากกลุ่มผลประโยชน์ในเครือข่ายการผลิตและกระจายสินค้าและบริการที่มีความซับซ้อนเช่นนี้

ตามความเข้าใจของ Kantorovich นั้น เป้าหมายมิใช่การบริหารจัดการผลิตและขนส่งกาแฟทุกถุงหรือเหล็กทุกแท่งในระดับจุลภาคจากทั่วทุกมุมโลก แต่เป็นการ “สร้างระบบข้อมูล การบัญชี และการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ตัดสินใจสามารถประเมินผลการตัดสินใจของตนเองในระดับมหภาคได้” ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องนำแนวคิดเชิงเทคนิคของ Kantorovich มารวมกับแนวคิดเชิงอุดมคติทางวิทยาศาสตร์ของ Neurath ที่ซึ่งทำให้นักวางแผนสามารถกำหนดเป้าหมายและข้อจำกัดเป็นหน่วยวัดทางธรรมชาติและทดลองใช้โมเดลที่แตกต่างกันเพื่อวิเคราะห์ทางเลือกเหล่านั้น

ในปัจจุบัน เราอาจเดาได้ว่าแผนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของโลกแห่งสังคมนิยมมากมายหลายรูปแบบ และอาจมีส่วนร่วมในระบบ Geoengineering เพื่อให้โลกสามารถใช้พลังงานฟอสซิลต่อไปได้ หรืออีกความเป็นไปได้หนึ่งคือหยุดการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างถาวร และเราสามารถประเมินต้นทุนของความเป็นไปได้แต่ละกรณีโดยใช้หน่วยวัดทางธรรมชาติเพื่อทำให้เห็นถึงสิ่งที่เราต้องสูญเสียไปในแต่ละทางเลือก สมาชิกสภาพผู้แทนราษฎรอาจทำการตัดสินใจในแผนใดแผนหนึ่งหรือส่งต่อไปให้ประชาชนทำการตัดสินใจโดยตรงก็ได้ ซึ่ง Otto Neurath เรียกความเป็นไปได้เหล่านี้ว่า “Scientific Utopias” หรืออุดมคติทางวิทยาศาสตร์และมองว่าเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจแบบประชาธิปไตย (อ่านต่อวันพฤหัสบดี)


Social Share