THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย DREW PENDERGRASS และ TROY VETTESE
วันที่ 2 มิถุนายน 2022
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://www.iheartberlin.de/events/half-earth-socialism/
อ้างอิง https://www.noemamag.com/planning-an-eco-socialist-utopia/

(ต่อจากวันพฤหัสบดี)

ด้วยแรงบันดาลใจจากงานเขียนเรื่อง “Scientific Utopianism” หรือสังคมอุดมคติทางวิทยาศาสตร์ของ Otto Neurath ผู้เขียนร่วมกับ Son La Pham และ Francis Tseng ซึ่งเป็นนักออกแบบระบบ ออกแบบวิดีโอเกม (https://play.half.earth) ที่ให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นนักออกแบบโลกที่ปกป้องมนุษยชาติจากภัยโลกร้อน โลจิกของเกมตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องรวมถึงโมเดลภูมิอากาศ (HECTOR) ผู้เล่นสามารถเลือกใช้เทคโนโลยี นโยบาย และโครงสร้างพื้นฐานที่มีให้หลากหลายเพื่อลดอุณหภูมิผิวโลก พัฒนาคุณภาพชีวิต และเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมโลก

Half-Earth Socialism ก็เป็นหนึ่งในโครงการสร้างสังคมอุดมคติทางวิทยาศาสตร์ แต่มิได้หมายความว่าเราต้องจำกัดตัวเองอยู่เพียงเครื่องมือและแนวคิดที่ Neurath ให้ไว้ แม้แต่นวัตกรรมทางคณิตศาสตร์ของ Kantorovich ยังเริ่มล้าสมัยในปัจจุบัน ในขณะที่การคำนวณแบบตายตัวโดยใช้โปรแกรมเชิงเส้นหรือ Linear Programming เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการบริหารจัดการโครงการที่ซับซ้อน เป็นวิธีการที่แพร่หลายในคณิตศาสตร์ร่วมสมัยและในงานวางแผนพลังงานทางเลือก ส่วนนักวางแผนในระดับสากลต้องใช้เครื่องมือที่ทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้และบรรลุเป้าหมายในระดับสากลอย่างการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและพัฒนาตลาดระหว่างประเทศไปพร้อมกัน

โมเดลคำนวณเชิงธรรมชาติหรือ In Natura Calculation มิได้หมายความว่าการทดแทนเงินตราด้วยระบบเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยนสินค้ากันโดยตรงที่ขาดประสิทธิภาพ (พลังงาน x กิโลวัตต์ -ชั่วโมงเท่ากับข้าวเปลือก y กระสอบ) แต่เป็นการใช้ระบบฐานข้อมูลที่ทำให้ผู้ใช้งานเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าแต่ละรายการในภาพรวม การตอบสนองความต้องการของมนุษย์และอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมกันเป็นเป้าหมายขั้นพื้นฐานที่วัดค่าเป็นปริมาณอาหารและโมเลกุลคาร์บอนและดูว่าโลกในหน่วยวัดเชิงธรรมชาติจะทำให้เราซื้อขายแลกเปลี่ยนโดยตัดสื่อกลางที่เป็นเงินตราออกไปได้หรือไม่

ในอดีต การวางแผนมักใช้เวลาทำงานของแรงงานเป็นหน่วยสากลในการจัดการผลิตและกระจายสินค้า กลยุทธ์นี้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในในการออกแบบระบบที่แก้ไขความบิดเบือนที่เกิดขึ้นจากสกุลเงินตราที่แปลกประหลาดหรือ “time chits” นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากเป็นการยากที่จะยอมรับความจริงที่ว่าประสิทธิภาพหรือทักษะของแรงงานแต่ละคนไม่เท่ากัน เป้าหมายของสังคมนิยมไม่ใช่การทำซ้ำตลาดขึ้นมา แต่ทำให้มนุษย์มีวินัยและมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติได้ดีขึ้น

ขอให้เราจินตนาการว่าการปฏิวัติระบบนิเวศสังคมนิยมเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้เพื่อทดสอบความคิดและมองให้ถึงแก่นแท้ของการเมืองเชิงปฏิบัติ สหประชาชาติอาจกลายเป็นรัฐสภาโลกที่ประกอบไปด้วยชาติอิสระต่างๆ ไม่ว่ารัฐบาลโลกนี้จะมีลักษณะเป็นเช่นไรก็ตามแต่จะต้องปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยและกระขายอำนาจเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าครอบงำโดยกลุ่มอำนาจสังคมนิยมเก่า รัฐบาลที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นตัวแทนจากชาติต่างๆทั่วโลกนี้จะต้องเริ่มงานหนักคือการวางแผนเศรษฐกิจโลกโดยทันที และก่อนอื่นจะต้องใช้วิศวกรระบบมาคำนวณจุดสมดุลระหว่างความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์และข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติและแต่งตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านอนาคตของสิ่งแวดล้อมที่อาจเรียกว่า Gosplant (ยกโทษให้เราด้วยในภาษาละติน) ลองคิดดูว่ารัฐบาลในอุดมคตินี้จะต้องประสบกับปัญหาเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าขนาดไหน

เป้าหมายเบื้องต้นของรัฐบาล Gosplant คือกำหนดความเป็นไปได้ของอนาคตหลากหลายรูปแบบเพื่อศึกษาศักยภาพของธรรมชาติในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจโดยไม่เสื่อมโทรมลงและหาโมเดลที่มีการใช้พลังงานต่อหัวประชากรที่เหมาะสมโดยใช้เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนุรักษ์ระบบนิเวศที่แตกต่างกันไปในแต่ละกรณีเพื่อให้เห็นถึงภาระของประชากรที่จะเกิดขึ้นในการบรรลุเป้าหมายอนุรักษ์ทรัพยากรในแต่ละระดับ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กระบวนการนี้ได้ผลแม้แต่ในระดับที่ต่ำที่สุด เราต้องเก็บรวบรวมข้อมูลจากทั่วทุกภูมิภาคของโลกเพื่อช่วยในการแปลงข้อเท็จจริงที่ยุ่งเหยิงให้อยู่ในหน่วยวัดเชิงธรรมชาติ คลังข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับข้อจำกัดทางทรัพยากรธรรมชาติทำให้นักวางแผนของ Gosplant สามารถเห็นข้อจำกัดที่สำคัญสองประการได้ชัดเจนขึ้นได้แก่ปริมาณทรัพยากรที่นำออกมาใช้ได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและปริมาณที่สังคมมนุษย์ต้องการ

แผนการที่เป็นไปได้ในรูปแบบหนึ่งได้แก่ สงวนทรัพยากรโลกครึ่งหนึ่งไว้เพื่อการอนุรักษ์และหลีกเลี่ยงหายนะด้านสิ่งแวดล้อม เป็น “Half-earth” ที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ “Half-earth Socialism” ซึ่งเป็นแนวคิดของ E. O. Wilson และนักอนุรักษ์นิยมรายอื่นๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ที่ดิน (ซึ่งมักนำโดยอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์) เป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง การอนุรักษ์ที่ดินจำนวนมากจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่มากพอ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์) แต่การอนุรักษ์ที่ดินจะต้องปลอดจากมรดกตกทอดของลัทธิอาณานิคม มีเหตุผลทางศีลธรรมและสิ่งแวดล้อมสนับสนุนโครงการอนุรักษ์แบบซ้ายจัด เพราะอย่างไรก็ตาม ที่ดินของชนพื้นเมืองก็สามารถดูดซับคาร์บอนและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพได้ดีกว่าพื้นที่อนุรักษ์แห่งชาติ ดังนั้น Half-Earth socialism จึงไปด้วยกันได้ดีกับการอนุรักษ์ที่ดินไว้ให้กับชนพื้นเมืองที่เป็นเจ้าของเดิม (อ่านต่อวันอังคารหน้า)


Social Share