THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Larry Lohmann
วันที่ 5 มิถุนายน 2023
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์
ภาพประกอบโดย https://palmetto.com/…/carbon-offset-guide-what-carbon…

เมื่อสามสิบปีที่ผ่านมา นักศึกษากฎหมายสิ่งแวดล้อมได้เรียนรู้ว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบแก่ผู้ที่มิได้ก่อปัญหา และนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ดีมักเป็นนโยบายที่สามารถส่งสัญญาณทางราคาไปสู่ผู้เล่นในตลาดเพื่อเตือนให้ผู้เล่นเหล่านั้นลดการปล่อยก๊าซและเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด ต่อมา แม้แต่ในขณะที่เรากำลังเดินทางเข้าใกล้หายนะทางภูมิอากาศมากขึ้นทุกทีและการแก้ปัญหาโดยใช้กลไกด้านทุนกลับกลายเป็นภาพลวงตา บรรดาโมเดลและวิธีการทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมในยุค 1990 ได้แก่แนวคิดที่ใช้ทุนนิยมร่วมสมัยเพื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่หลักการชดเชยก็ยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่ถูกตั้งคำถามทั้งในและนอกห้องเรียน

หลักการชดเชยเกิดจากแนวคิดที่ว่ารัฐไม่ควรทำให้อุตสาหกรรมลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีบีบบังคับ แต่ควรหาแนวทางเลือกที่มีต้นทุนที่ถูกกว่ามานำเสนอ หรือไม่ควรบังคับให้ภาคธุรกิจหยุดการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพหรือแหล่งน้ำตราบเท่าที่ธุรกิจนั้นสามารถชดเชยการกระทำดังกล่าวด้วยวิธีการที่มีต้นทุนที่ถูกกว่าและสร้างสมดุลต่อความเสียหายนั้น

ดังนั้น ตามหลักเหตุและผลนี้ สิ่งที่สายการบิน บริษัทผลิตซีเมนต์ หรือบริษัทเทคฯควรทำแทนการลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้แก่การปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซแทน ยกตัวอย่างเช่น Chevron ประกาศว่าได้ทำให้การขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวมีความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยการให้ทุนฟื้นฟูดินและป่าไม้ในอินโดนีเซียและกัมพูชา

ในช่วงแรกๆ คำกล่าวอ้างที่ว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หนึ่งสามารถลบล้างได้ด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในอีกพื้นที่หนึ่งนั้นดูจะเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น แต่เหมาะสมอย่างยิ่งกับหลักการพื้นฐานของทุนนิยม ลัทธิอาณานิคม และนิติรัฐตามที่ศาสตราจารย์ Jason W. Moore แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ Binghamton University ได้อธิบายไว้ว่า “ทุนนิยมมิได้เพียงมีเขตแดนเท่านั้น แต่ดำรงอยู่ได้ด้วยเขตแดน” ทุนนิยมถูกสร้างขึ้นด้วยแรงงาน วัตถุดิบ อาหาร และพลังงานที่มีราคาถูกที่สุดเท่าที่จะหาได้โดยผลักภาระต้นทุนไปที่สังคม ดังนั้นทุนนิยมจึงต้องขยายถิ่นฐานไปเรื่อยๆเพื่อพยายามแก้ปัญหาที่มันทิ้งไว้ไปตลอดทาง

ดังนั้น เมื่อมลภาวะทางอากาศถึงจุดที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สายตาของทุนนิยมจึงหันมาที่ที่ดินเพื่อใช้ดูดซับคาร์บอนเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำเอาดิน ต้นไม้ เกษตรกร ชาวป่า ทะเล และระบบนิเวศมาใช้แก้ปัญหาที่ตัวมันก่อขึ้นจากการปล่อยมลภาวะ

แนวคิดที่นำเอาสิ่งเหล่านี้มาเสียสละนั้นเป็น “การทำงานร่วมกันระหว่างสงครามและวาทกรรม” หรือ “ลัทธิล่าอาณานิคม” ตามที่ Maristella Svampa ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ การใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของผู้อื่นเพื่อดักจับคาร์บอนที่ตนเองก่อขึ้นก็เหมือนกับการใช้เอกสารทางเทคนิคและกฎหมายเป็นตั้งๆมาอธิบายกับรัฐและผู้บริโภคว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นสมเหตุสมผล และกระบวนการนี้ก็ได้รับการบันทึกไว้อย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปีโดยนักวิจัยชื่อ Chris Lang และทีมงาน The World Rainforest Movement and Indigenous Environmental Network

จะเกิดอะไรขึ้นหากกระบวนการชดเชยคาร์บอนนี้ถูกใช้จนเต็ม? ยกตัวอย่างเช่นจะเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่สามารถปลูกต้นไม้ได้ทันต่อการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากที่ปล่อยออกมา? หรือการนำเอาที่ดินหรือป่าไม้มาใช้เพื่อการปกป้องอุตสาหกรรมที่ทำกำไรจากหายนะของสังคมและระบบนิเวศ? คำตอบก็อาจเป็นไปได้ว่ามนุษย์จะสามารถหาทางผลักดันเขตแดนแห่งการหาทรัพยากรออกไปอีกเพื่อแก้ปัญหาที่ตนเองก่อไว้ได้เสมอ หลักการหนึ่งของทุนนิยมก็คือมันจะมีเขตแดนแห่งทรัพยากรแห่งใหม่มาทดแทนเขตแดนเดิมที่เราทำลายลงเสมอ และทุนนิยมก็มีกลไกทางเทคนิคที่รับประกันว่าสิ่งใหม่ๆจะเกิดขึ้น เช่นโครงการชดเชยคาร์บอนอาจจ้างชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินให้แก่การปลูกป่ามาทำงานในโครงการ หรืออาจใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาปรับปรุงประสิทธิภาพในการชดเชยคาร์บอน (และปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป)

พัฒนาการทางกฎหมายก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ทุนนิยมยืดหยุ่นมากขึ้น กฎหมายแนวเสรีนิยมใหม่ได้เปิดเขตแดนแห่งการชดเชยที่สำคัญที่สุดขึ้น ได้แก่เขตแดนแห่งอนาคต สำหรับนักร่างกฎหมายที่มีความคิดสร้างสรรค์ แนวคิดที่เรียบง่ายอย่าง “หลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซ” เป็นโอกาสอันหอมหวานที่เอื้อให้บรรดาอุตสาหกรรมสามารถใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด กล่าวคือเป็นการตั้งสมมติฐานว่าการหยุดปล่อยก๊าซในอนาคตมีค่าเท่ากับหยุดปล่อยก๊าซเดี๋ยวนี้ แทนที่จะจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือขุดเจาะพลังงานฟอสซิล ภาครัฐอาจให้สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในวันนี้แก่อุตสาหกรรมที่สามารถป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในวันหน้าได้

เทคโนโลยีต่างๆอย่างการวิเคราะห์เชิงสถิติ แนวโน้มของเศรษฐกิจ และภาพถ่ายดาวเทียม ถูกเจ้าของโครงการนำมาใช้ประกอบคำกล่าวอ้างที่ว่าพวกเขารู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคต และหากหน่วยงานรัฐจะบอกว่านั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกหลักเหตุผลเพราะการปล่อยก๊าซที่เจ้าของโครงการอ้างว่าจะเกิดขึ้นนั้น แท้จริงแล้วจะเกิดขึ้นไม่ได้เพราะขัดต่อกฎหมาย เจ้าของโครงการก็จะอ้างต่อไปว่าการบังคับใช้กฎหมายนั้นหละหลวมตลอดมา หรือไม่ก็เพียงแค่ล็อบบี้กฎหมายให้ออกบังคับใช้ช้าลง

ประการที่สอง เจ้าของโครงการทำให้เกิดช่องโหว่ในระบบ แน่นอนว่าปริมาณก๊าซที่เจ้าของโครงการทำนายไว้มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ เพราพวกเขามีข้อมูลวงในเกี่ยวกับการร่างและประกาศใช้กฎหมาย แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์และนำโลกพ้นจากอนาคตที่สิ่งแวดล้อมพังทลายได้ ซึ่งก็คือพวกเราทุกคนนั่นเอง เราทุกคนสามารถปกป้องป่าไม่ให้ถูกตัดทำลายได้ ไม่ใช่ชุมชนชาวป่า เราเป็นผู้เลือกที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิล ไม่ใช่รัฐบาลท้องถิ่นที่ไหน เราทุกคนคือผู้ที่ลงมือปฏิบัติการ “หลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซ” ที่ตลาดได้วางกลไกไว้ ดังนั้นจึงเสมือนว่าเราทุกคนได้สิทธิในการปล่อยกาซตามกฎหมายโดย “ชดเชย” พลังงานฟอสซิลที่เราบริโภค

และเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามเสียงเรียกร้องของสาธารณชน ตลาดคาร์บอนเครดิตก็จะเติบโตขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้นไม่เพียงแต่เขตแดนแห่งการบริโภคพลังงานฟอสซิลจะสิ้นสุดลง แต่ยังนำไปสู่เขตแดนแห่งการการทำกำไรแบบใหม่จากการขายสิทธิในทรัพยากรใหม่ๆขึ้นมาอีกตามแนวทางของลัทธิลิอาณานิคม เช่นเดียวกับลักษณะของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ John Locke เคยทำนายไว้ว่าจะเป็น ดังนั้น อนาคตภายใต้กรอบกฎหมายอย่าง EU Emissions Trading Scheme หรือ Carbon Trading Scheme ของแคลิฟอร์เนีย ย่อมมีช่องโหว่รอการหาประโยชน์โดยเจ้าของสินทรัพย์อย่างพวกเราทุกคนก่อนที่สิ่งดีๆตามเจตจำนงของกฎหมายจะเกิดขึ้นได้

โดยหลักการนี้เอง เราได้สร้างโอกาสที่จะขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลออกมาใช้ได้อย่างไม่รู้จบ สิ่งที่ต้องทำมีเพียงกรอกแบบฟอร์มขออนุญาตตามที่กฎหมายเสรีนิยมใหม่กำหนดไว้เท่านั้น ทรัพยากรแทบทุกอย่างสามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการขออนุญาตใช้ถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมัน แม้แต่การขึ้นโครงการพลังงานฟอสซิลโครงการใหม่ที่อ้างว่าทำให้เกิดการใช้พลังงานฟอสซิลน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีโครงการ นี่คือความฉลาดอย่างหนึ่งของกฎหมายภายใต้ระบบทุนนิยมที่นำเอาสิ่งที่ไม่น่าจะชดเชยกันได้มาใช้ชดเชยกัน

ผลที่ตามมาก็คือเครดิตที่ผลิตขึ้นภายใต้หลักการนี้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 25 ปี นักวิทยาศาสตร์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ากลไกชดเชยคาร์บอนมีแต่จะทำให้ภาวะโลกร้อนเลวร้ายขึ้น แม้แต่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เคยสนับสนุนแนวทางนี้ในช่วงแรกๆ หรือในยุคของพิธีสารเกียวโต ซึ่งรวมถึงนาย Robert Watson อดีตประธาน IPCC และสมาชิกเก่าของ World Wide Fund for Nature ก็ยังถอนตัว หรือแม้แต่ในระบบทุนนิยมเอง จำนวนการฟ้องคดีเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตเริ่มเพิ่มสูงขึ้น และหลักคิดเรื่องการชดเชยหรือแม้แต่การใช้คาร์บอนเครดิตมาถ่วงเวลาที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจังเริ่มที่จะไม่ได้ผล

อีกประการหนึ่งได้แก่การที่กลไกชดเชยเบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์เดิมของกฎหมายสิ่งแวดล้อมไปมาก การที่จะสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ยังสนับสนุนการต่อต้านกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งโดยสิ้นเชิง ดังนั้นในประเทศไนจีเรีย บริษัทน้ำมัน Eni สัญชาติอิตาเลียนและบริษัทในเครือจึงได้รับใบอนุญาตปล่อยมลภาวะด้วยการหยุดเผาก๊าซทิ้ง ณ จุดขุดเจาะ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ศาลสูงของไนจีเรียได้ตัดสินไปแล้วว่าการเผาก๊าซทิ้ง ณ จุดขุดเจาะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นกิจการขุดเจาะน้ำมันของ Eni ในประเทศไนจีเรียทำให้เกิดสิทธิในการปล่อยก๊าซ CO2 ปริมาณนับล้านตันแก่กิจการอื่นๆของ Eni ในประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ยังเสมือนว่าบริษัทได้รับรางวัลจากการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายให้เป็นประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากสหประชาชาติผู้ซึ่งประกาศต่อต้านลัทธิอาณานิคมและสนับสนุนการใช้กฎหมายเอง

ซึ่งนาย Jason W. Moore ได้วิจารณ์ปรากฏการณ์นี้ในงานเขียนชิ้นหนึ่งว่าเป็น “ประวัติศาสตร์แห่งการทำลาย” ซึ่งมิได้มีแค่เพียงสถานที่ที่ถูกทำลาย แต่ยังเป็นผู้คนและสถาบันด้วยวิธีการต่างๆนาๆ แม้แต่กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีวัตถุประสงค์ดั้งเดิมที่จะประสานและสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของมนุษย์และข้อจำกัดของระบบนิเวศก็ยังตกเป็นเหยื่อได้


อ้างอิง OFFSET FRONTIERS, FOSSIL CAPITALISM AND THE LAW


Social Share