THAI CLIMATE JUSTICE for All

ธรรมชาติ ถัวเฉลี่ยสุทธิ (Net) ได้มั้ย

กฤษฎา บุญชัย

หลักนโยบายทางเศรษฐศาสตร์เรื่อง เฉลี่ย“สุทธิ” (Net) กำลังร้อนแรงดังนโยบายการจัดการลดก๊าซเรือนกระจก ที่อนุญาตให้การลดก๊าซเรือนกระจกคิดในรูปแบบสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

หากผู้ปล่อยคาร์บอนต้องการลดหรือยุติการปล่อย ไม่จำเป็นต้องลดให้หมดในกระบวนการของตนเอง แต่สามารถไปเอากิจกรรมการลดก๊าซในที่อื่น ๆ ที่เราไปส่งเสริม ลงทุน แล้วนับเป็นจำนวนคาร์บอนติดลบ มาเฉลี่ยกับคาร์บอนฯ ที่เราปล่อย (เป็นบวก) เมื่อบัญชีบวกกับลบเท่ากัน ก็เท่ากับเป็นศูนย์โดยสุทธิ (Net Zero)

แนวคิดดังกล่าวเป็นการปลดล็อคปัญหาของระบบทุนที่ทำลายนิเวศ ทรัพยากร มลภาวะสิ่งแวดล้อมอย่างคาดไม่ถึง เพราะทำให้ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนากับสิ่งแวดล้อมที่เคยเป็นคู่ตรงข้ามกัน เปลี่ยนความสัมพันธ์ต่างตอบแทนแบบ win-win ได้ สามารถทำให้ผู้ทำลายนิเวศก็เป็นนักอนุรักษ์ไปพร้อม ๆ กัน

วิธีคิด Net Zero คาร์บอนฯ เกิดจากการแยกปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกจากปัญหาการพังทลายนิเวศ ทรัพยากร การพัฒนา แยกส่วนเฉพาะก๊าซเรือนกระจกสำคัญคือ คาร์บอนฯ มีเธน และอื่น ๆ โดยใช้หลักคิดว่า คาร์บอน มีเธน ที่ไหนก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะมาจากวงจรธรรมชาติ จากการใช้ชีวิตของมนุษย์ ไปจนถึงคาร์บอนที่มาจากความมั่งคั่งภาคอุตสาหกรรมและพลังงาน

หากแต่ในโลกทัศน์ วิถีดำรงชีพ ของผู้คนที่ดำรงอยู่ในระบบนิเวศต่าง ๆ เกษตรกรที่เดือดร้อนจากภาวะแห้งแล้ง ชดเชยได้ไหมกับการติดตั้งพลังงานหมุนเวียนในอีกพื้นที่หนึ่ง การปล่อยคาร์บอนรวมถึงมลภาวะอื่น ๆ จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซอย่างมหาศาลที่กระทบรุนแรงต่อนิเวศพื้นถิ่นและสภาพภูมิอากาศของโลก ชดเชยได้ไหมกับการปลูกป่านับพันหมื่นไร่ในอีกพื้นที่หนึ่ง

การเฉลี่ยสุทธิกับคาร์บอนฯ ที่ถูกลดทอนมิติทางนิเวศ สังคมแล้วถูกยอมรับอย่างแพร่หลายเพราะเป็นไปตามหลักกลไกตลาดเสรีของระบบทุน

แต่สิ่งที่เหลือเชื่อก็คือ วิธีคิดเฉลี่ยสุทธิกำลังถูกนำไปใช้กับเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ!

ภาคธุรกิจในยุโรปกำลังเอาความหลากหลายทางชีวภาพมาถัวเฉลี่ยสุทธิบ้าง โดยลงทุนในโครงการที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สงวนแลกกับเครดิตที่สามารถใช้ชดเชยการปล่อยคาร์บอนของตนเองหรือธรรมชาติที่ถูกทำลายจากการดำเนินธุรกิจ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้รับเหมาก่อสร้างสนามบินในสเปนอาจชดเชยการทำร้ายฝูงฟลามิงโกท้องถิ่นด้วยการลงทุนในโครงการอนุรักษ์ที่อยู่อาศัยของค้างคาวในกรีซหรือป่าไม้ในโรมาเนีย

ในปัจจุบัน

ตลาดเครดิตความหลากหลายทางชีวภาพยังมีมูลค่าเพียงไม่กี่ล้านยูโร แต่จากรายงานของ World Economic Forum 2023 พยากรณ์ว่าตลาดจะเติบโตขึ้นจนถึง 2 พันล้านเหรียญฯ ภายในปี 2030 และ 7 หมื่นล้านเหรียญฯ ภายในปี 2050

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรออกกฎหมาย ‘Biodiversity Net Gain’ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ โดยบังคับให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นร้อยละ 10 เพื่อชดเชยการขึ้นโครงการ อาจทำได้ด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพด้วยตนเองหรือซื้อเครดิตจาก Habitat Banks

รัฐบาลฝรั่งเศสได้ลงทุน 50 ล้านยูโรในกองทุนเพื่อหยุดการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศกาบองเพื่อผลิตเครดิต ในออสเตรเลีย รัฐนิวเซาธ์เวลส์ริเริ่มโครงการผลิตเครดิตความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรหมีโคอาล่าที่ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยชาวนาจะได้รับต้นไม้จากรัฐบาลเพื่อนำไปปลูกและหวังว่าต้นไม้จะดูดซับคาร์บอนและเป็นที่อยู่ของหมีโคอาล่า เพื่อรับเครดิตที่จะนำไปขายให้ภาคธุรกิจต่อไป

“Biodiversity Net Gain เป็นแนวทางใหม่ที่ช่วยผสานการอนุรักษ์เข้ากับการพัฒนา เราจะสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนและเจ้าของที่ดินร่วมกันปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นตัวของความหลากหลายทางชีวภาพในวงกว้าง” George Eustice อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม อังกฤษกล่าว (อ้างในเพชร มโนปวิตร, https://www.the101.world/biodiversity-net-gain/)

ใช่ครับ เกิดแรงจูงใจแน่ เพราะโครงการที่จะกระทบความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นเรื่องอ่อนไหวทางนิเวศ สังคม และการเมือง กลายเป็นเรื่องถัวเฉลี่ยผลประโยชน์กันได้แล้ว

จากคาร์บอน มาสู่ความหลากหลายทางชีวภาพ
ต่อไปอาจจะเป็นชีวิตเรา ชุมชนเรา สังคมเราก็เอาไปเฉลี่ยผลดีผลลบให้เป็นศูนย์โดยสุทธิได้
นี่คือย่างก้าวใหม่ของวิธีคิดแบบประโยชน์นิยมยุคดิจิตัล ที่ทำให้ชีวิตหนึ่ง ๆ ไม่ได้มีความหมายในตัวเองหากเฉลี่ยสุทธิกับประโยชน์อื่นได้


เครดิต : Biodiversity Net Gain: เมื่อการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพกลายเป็นกฎหมาย

Scroll to Top