THAI CLIMATE JUSTICE for All

ภาวะโลกร้อนมีความสำคัญน้อยในสายตาของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วโลก

เขียนโดย Emma Ricketts
วันที่ 25 มีนาคม 2024
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

ปี 2024 เป็นปีที่ประเทศต่างๆจำนวนกว่า 65 ประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อินเดีย เม็กซิโก เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรปที่ถึงวาระเลือกตั้งผู้นำของชาติ และเป็นปีที่มีจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งร่วมลงคะแนนในโพลมากกว่าครั้งไหนๆ ที่ผ่านมาหรือเท่ากับ 4 พันล้านคน และผลการเลือกตั้งในปีนี้ก็จะเป็นครั้งที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นอย่างสูงด้วย

ประเทศที่อยู่ในระหว่างการเลือกตั้งผู้นำ 65 ประเทศนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสักส่วนร้อยละ 40 ของปริมาณทั้งหมด แต่ตามรายงานของบริษัทโพล Ipsos มีผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียงร้อยละ 18 ที่มองว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่กว่าปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งได้แก่ภาวะเงินเฟ้อ

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เราคาดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับนโยบายโลกร้อนหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลง?

นาย Darrell Bricker หัวหน้าทีมวิจัยฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ของ Ipsos กล่าวว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความสำคัญมากต่อแผนการบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อปัญหาโลกร้อน

“มันไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตัดสินใจในระดับสากลที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในระดับประเทศ ดังนั้นหากเราต้องการนโยบายด้านโลกร้อนที่มีประสิทธิภาพ เราต้องผลักดันให้เกิดในระดับประเทศและท้องถิ่น”

อย่างไรก็ตาม Darrell Bricker ก็ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องสำคัญในสายตาของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จากผลการศึกษาที่ Ipsos ตามสังเกตพฤติกรรมของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวน 20 รายใน 30 ประเทศทุกเดือน

“โดยเฉลี่ยแล้วภาวะโลกร้อนอยู่ในลำดับที่ 10 ในลำดับความสำคัญของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่พวกเขาให้ความสำคัญกว่าภาวะโลกร้อนอีกมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าครองชีพ”

ผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้นาง Romany Webb รองผู้อำนวยการของสถาบัน Sabin Center for Climate Change แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกังวลเป็นอย่างมาก “ผลการเลือกตั้งจะส่งผลกระทบต่อนโยบายบรรเทาปัญหาโลกร้อน (การลดก๊าซเรือนกระจก) และตั้งรับปรับตัวต่อปัญหาโลกร้อน (การเตรียมความพร้อมให้แก่คนกลุ่มเปราะบางที่กำลังดำเนินการอยู่) ของทั้งสหรัฐฯและทั่วโลกเป็นอย่างมาก” เธอให้สัมภาษณ์โดยอ้างอิงถึงการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์เคยนำเอาประเทศออกจากความตกลงปารีสมาแล้ว

จากข้อมูลของ Webb หากทรัมป์ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนทั้งหลายจะหยุดชะงัก กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยสภาหลายร้อยฉบับจะถูกถอดถอน หรือแม้แต่อเมริกาจะกลายเป็นประเทศที่ปฏิเสธภาวะโลกร้อน

“ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ข้าพเจ้ากำลังอยู่ในที่ประชุมความตกลงปารีสในโมร็อกโก สองสามวันต่อมาก็มีผู้สนับสนุนนายทรัมป์ออกมาเผาความตกลงปารีสอยู่หน้าที่ประชุม”

สำหรับ Darrell Bricker แล้ว ความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งทำให้เขาต้องหันมาจับตามองการเลือกตั้งในประชาคมยุโรปอย่างใกล้ชิด “นี่เป็นครั้งแรกที่ชาวยุโรปจะต้องคิดแบบชาวยุโรป ถ้าทรัมป์จะกลับมาคุมบังเหียนสหรัฐฯอีกครั้ง เราคงต้องหวังพึ่งยุโรป”

ในสหราชอาณาจักร นาย Leo Mercer นักวิเคราะห์ของสภาบัน Grantham Institute พบว่าภาวะโลกร้อนกลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ “ทั้งพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยมเปลี่ยนแปลงท่าทีที่มีต่อภาวะโลกร้อนไปมากในช่วงที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรี Rishi Sunak แห่งพรรคอนุรักษ์นิยมได้ส่งสัญญาณที่จะทบทวนเป้าหมาย Net Zero และเริ่มที่จะยกเลิกบางเป้าหมายลดก๊าซเช่นในรถยนต์เบนซินและดีเซล”

จากข้อมูลของ Mercer แม้ว่าทั้งสองพรรคจะยังคงรักษาคำมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ไว้ แต่การลดก๊าซเริ่มส่งผลกระทบในภาคการเกษตรและขนส่ง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเป้าหมายดังกล่าวจะถูกทบทวนใหม่ “พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธภาวะโลกร้อนอีกต่อไปก็จริง แต่ก็ยังคงไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติตามเป้าหมาย Net Zero ที่ให้ไว้โดยให้เหตุผลว่ามีต้นทุนดำเนินการและต้นทุนทางสังคมที่สูงเกินไป”

ส่วนในประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย Sangeeth Selvaraju นักวิเคราะห์ของสภาบัน Grantham Institute กล่าวว่าความสามารถในการแก้ปัญหาโลกร้อนขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งในประเทศอื่นมากกว่าในประเทศของตนเอง การแก้ปัญหาโลกร้อนต้องการความร่วมมือจากนานาชาติ ดังนั้นไม่ว่าผู้นำคนใหม่ของอินเดียจะเป็นใครก็ตาม เขาก็จะต้องร่วมมือกับผู้นำของยุโรปและสหรัฐฯเพื่อการระดมทุน มิฉะนั้นอินเดียจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายโลกร้อนได้เลย”


อ้างอิง : Indigenous Environmental Network Signs Letter Opposing Carbon Markets

Scroll to Top