THAI CLIMATE JUSTICE for All

นโยบายของไบเด็นที่จำกัดการส่งออก LNG จะไม่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน

เผยแพร่โดย The Economist
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2024
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

“Freedom gas” ช่วยให้ยุโรปรอดพ้นจากวิกฤติพลังงาน

ยุโรปนำเข้า LNG จากสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ในปี 2019 จากนั้นยอดนำเข้าก็พุ่งสูงขึ้นจาก 16 ล้านตันในปี 2021 (ก่อนหน้าที่รัสเซียจะบุกยูเครนและตัดท่อส่งก๊าซไปยุโรป) เป็น 46 ล้านตันในปีที่ผ่านมา การตัดสินใจที่ดึงเอาก๊าซ LNG ที่ส่งออกไปยังเอเชียมาให้ยุโรปแทนนั้นเป็นการตัดสินใจของภาคธุรกิจโดยมีประธานาธิบดีไบเด็นหนุนหลัง ยอดส่งออก LNG สูงขึ้นนี้ทำให้ America กลายมาเป็นผู้ส่ง LNG ออกรายใหญ่ที่สุดในโลกแซงหน้ากาตาร์และออสเตรเลีย

เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเด็นประกาศชะลอโครงการก่อสร้างท่อส่งออกก๊าซ LNG ไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อ “ทบทวนผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม” การตัดสินใจครั้งนี้มิได้มาจากผู้เชี่ยวชาญหรือกระทรวงพลังงาน แต่ก็สามารถหยุดยั้งโครงการบางโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่ประเทศที่ไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากรวมถึงตลาดใหญ่ในยุโรปและเอเชีย)

ประกาศนี้ได้รับการสนับสนุนโดยนักสิ่งแวดล้อมที่อ้างว่า LNG ไม่ใช่เป็นเรื่องของตลาดเสรีแต่เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดได้ ในทางตรงกันข้ามก็มีผู้ที่มองว่า LNG เป็นพลังงานที่สะอาดกว่าน้ำมันและจะเป็นเครื่องมือลดอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงแผนของประธานาธิบดีไบเด็นที่จะห้ามการปล่อยก๊าซมีเธนที่เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีผลกระทบรุนแรงหากรั่วไหลระหว่างการผลิตหรือขนส่ง กรณีนี้แสดงให้เหล่าประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯเห็นว่าประเทศมหาอำนาจนั้นเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับประธานาธิบดีไบเด็นแล้ว เรื่องเหล่านี้คือประเด็นทางการเมืองทั้งสิ้น เพื่อที่จะหยุดยั้งมิให้สงครามในยูเครนทำให้ตลาดพลังงานโลกพังพินาศ รัฐบาลจึงพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตและส่งออกพลังงานในประเทศ และในขณะที่สหรัฐฯก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออก LNG รายใหญ่ของโลก สหรัฐฯก็ยังคงเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้สมาชิกพรรคเดโมแครตฝั่งซ้ายที่กังวลต่อภาวะโลกร้อนไม่พอใจ จนเมื่อประธานาธิบดีไบเด็นประกาศชะลอโครงการ LNG โดยระบุว่า “ให้มองภาวะโลกร้อนในสิ่งที่มันเป็น ซึ่งก็คือความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ในช่วงชีวิตของเรา” กลุ่มผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมจึงตอบรับว่านี่คือ “ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในปีเลือกตั้ง” Bill McKibben นักรณรงค์ที่มีส่วนสำคัญในแคมเปญยกเลิกการส่งออก LNG ประกาศ

แต่ Bill McKibben อาจประกาศชัยชนะเร็วเกินไปตามที่ Joseph Majkut แห่ง Centre for Strategic and International Studies ได้ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบจากการชะลอการส่งออก LNG ต่อตลาดโลกและปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศโลกนั้นมีน้อยมาก ปริมาณส่งออกจากสหรัฐฯที่ลดลงจะถูกแทนที่ด้วยก๊าซจากกาตาร์ ออสเตรเลีย และอื่นๆอย่างแคนาดาที่ Jonathan Wilkinson รัฐมนตรีพลังงานออกมาประกาศเมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมาว่า “นี่คือโอกาสของเรา”

นอกจากนี้ พลังงาน Hydrocarbon ของอเมริกาจะเข้าครองตลาดโลก ไม่ว่าจะมีการชะลอส่งออก LNG หรือไม่ก็ตาม และถ้าทรัมป์ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกสมัยหนึ่ง อเมริกาก็จะยิ่งผลิตและส่งออกพลังงานมากขึ้นไปอีก หรือหากไบเด็นชนะการเลือกตั้งอีกสมัย อเมริกาก็จะผลิตและส่งออก LNG ต่อไปหลังการชะลอตัว ซึ่งเห็นได้จากจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติที่จะทำให้ปริมาณส่งออก LNG สูงกว่ากาตาร์ที่เป็นผู้นำถึงร้อยละ 50 ภายในปี 2030

และถ้าการชะลอการส่งออก LNG ร่วมกับการลดปริมาณก๊าซมีเธนทำให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสหรัฐฯลดลง ก็จะเพิ่มแรงกดดันแก่คู่แข่งอย่างยุโรปและญี่ปุ่นที่ต้องเร่งหันไปพึ่งพาพลังงานสะอาดมากขึ้น ทำให้แนวร่วมที่จ้องจะโค่นล้มอุตสาหกรรม LNG ของอเมริกากลับกลายเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจพลังงานของอเมริกา และหันไปทำลายอุตสาหกรรมของพันธมิตรของสหรัฐฯที่นักการเมืองฝั่งซ้ายต้องการสงวนไว้แทน


ภาพ : Bloomberg L.P.

อ้างอิง : Joe Biden’s limits on LNG exports won’t help the climate

Scroll to Top