THAI CLIMATE JUSTICE for All

Social Share

เขียนโดย Terry Slavin
วันที่เผยแพร่ 21 ธันวาคม 2023
แปลและเรียบเรียงโดย ปิโยรส ปานยงค์

การประชุม COP26 ณ กรุงกลาสโกว เป็น COP ที่รับรองบทบาทของธรรมชาติในการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยตัวของมันเองเป็นครั้งแรก โดยให้เวลาถึงหนึ่งวันเต็มเพื่ออภิปรายเรื่อง Nature-based Solutions” และประเทศสมาชิกจำนวน141 ประเทศก็ลงนามหยุดการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูภาวะดินเสื่อมโทรมภายในปี 2030 ในข้อตกลง Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use

สองปีต่อมาที่ดูไบ COP28 นานาประเทศก็ยังให้คำมั่นที่จะอนุรักษ์ป่าอย่างต่อเนื่อง ตรงกันข้ามกับความต้องการที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในภาคการผลิตอาหารโลก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ถึงร้อยละ 30 ของปริมาณทั้งหมดในบรรยากาศโลก และในขณะเดียวกันก็เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติมากที่สุดเช่นเดียวกัน ประชากรจำนวน 735 ล้านคนตกอยู่ในภาวะหิวโหย และอีก 3.1 พันล้านคนไม่สามารถหาซื้ออาหารที่มีสุขภาวะได้

มีชาติต่างๆจำนวน 160 ชาติได้บรรจุประเด็นเรื่องอาหารและเกษตรกรรมลงในแผนรับมือกับภาวะโลกร้อนของตน ในการประชุม COP30 ที่จะจัดขึ้นในประเทศบราซิลในอีกสองปีข้างหน้า แผนการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารครั้งใหม่หรือ Alliance of Champions for Food Systems Transformation (ACF) ที่นำโดยบราซิล นอร์เวย์ เซียร์ร่า ลีโอน กัมพูชา และรวันดาประกาศว่าจะทบทวนนโยบาย แนวทางดำเนินการ และแผนการลงทุนใน 10 พื้นที่สำคัญเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบอาหาร

แผนงานนี้ประกอบกับรายงานของ United Nations’ Food and Agriculture Organization (FAO) ทำให้เราเห็นแนวทางในการออกแบบระบบอาหารที่จะจำกัดมิให้อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสด้วยเป้าหมายที่จะระดมทุนลงในพื้นที่ เกษตรกรรายย่อยที่มักประสบปัญหาด้านความมั่นคงอาหารและได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดกลับได้รับทุนเพียงร้อยละ 1.7 ของกองทุนเพื่อสภาพภูมิอากาศในปี 2018 ทั้งๆที่เป็นผู้ผลิตอาหารเป็นปริมาณร้อยละ 70 ที่โลกได้รับ

“เราได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ไว้ที่ COP28 ด้วยการวางระบบอาหารและเกษตรกรรมไว้ ณ ศูนย์กลางของการประชุมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ COP” นาง Mariam Almheiri รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าว “พฤติกรรมการผลิตและบริโภคอาหารของเราทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ใช้ทรัพยากรน้ำร้อยละ 70 และตัดไม้ทำลายป่าเขตร้อนลงร้อยละ 80 ถ้าเราไม่เร่งหาแนวทางการผลิตและบริโภคอาหารที่ยั่งยืนกว่านี้ ปัญหาเหล่านี้จะทวีความรุนแรงขึ้นในอีก 10-20 ปีข้างหน้า”

ส่วนนาย Paulo Teixeira รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาเกษตรและเกษตรกรรมรายย่อยได้เน้นถึงความสำคัญของเกษตรและประมงภาคครัวเรือนและชี้ให้เห็นว่าชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองว่าเป็น “ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดทั้งที่เป็นภาคส่วนที่สำคัญที่สามารถเปลี่ยนผ่านระบบอาหารได้ ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองโดยใช้นโยบายที่ออกแบบมาโดยเฉพาะจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านระบบเกษตรกรรมสู่ระบบที่มีสุขภาวะ ภูมิคุ้มกัน และยั่งยืนกว่า”

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจจำนวนกว่า 200 รายยังได้ร่วมลงนามเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่านระบบอาหาร รวมถึงหลายประเทศอย่างสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation ได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนเงินทุนจำนวน 890 ล้านดอลล่าร์ฯเพื่อช่วยให้เครือข่ายวิจัยด้านการเกษตร CGIAR ขยายขอบเขตงานของเครือข่ายเพื่อช่วยให้เกษตรกรรายย่อยตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ส่วนกองทุน Bezos Earth Fund ก็ประกาศสนับสนุนทุนจำนวน 57 ล้านดอลล่าร์ฯเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นทุนส่วนหนึ่งของทั้งหมด1 พันล้านดอลล่าร์ฯภายในปี 2030 เพื่อเปลี่ยนผ่านระบบอาหาร

แต่จากข้อมูลที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าสัตยาบันกลาสโกวปี 2026 ยังไม่สามารถลดการตัดไม้ทำลายป่าลงได้ แต่ในทางตรงข้ามกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4-7 ระหว่างปี 2021-2022 ทำให้เราเคลือบแคลงว่า COP28 จะช่วยเราเปลี่ยนผ่านระบบอาหารได้อย่างไรแม้ว่า COP28 จะให้คำมั่นอย่างเป็นทางการว่าจะหยุดการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูป่าภายในปี 2030 และกำหนดกรอบดำเนินการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ แต่กลุ่มนักอนุรักษ์ก็ผิดหวังที่ข้อตกลง COP เพียงกล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารในบริบทของการตั้งรับปรับตัว มิใช่บริบทของการบรรเทาปัญหา

นาง Praveena Sridhar หัวหน้าทีมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งขบวนการ Save Soil Movement กล่าวว่าดินที่อุดมสมบูรณ์สามารถดูดซับคาร์บอนในบรรยากาศได้ถึงร้อยละ 27 จากปริมาณทั้งหมดที่เราต้องการเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิผิวโลกไว้มิให้สูงขึ้นไปอีกเกิน 2C อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนการเงินเพื่อภูมิอากาศเพื่อบรรเทาและตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนคือหนึ่งต่อสิบ “ถ้าเราไม่ได้ต้องการแค่อนุรักษ์ดินของเราไว้ แต่ต้องการใช้มันในการต่อสู่กับปัญหาโลกร้อนได้ด้วย เราจะต้องสามารถรีไซเคิลดินได้เช่นเดียวกับที่เรารีไซเคิลวัสดุอื่นๆ โดยมีเงินทุนสนับสนุน” เธอกล่าว

ส่วนนาย Kyle Stice ผู้บริหารของเครือข่าย Pacific Farmer Organisations ให้สัมภาษณ์ว่าเกษตรกรรายย่อยกำลังลงทุนด้วยเงินของพวกเขาเองคิดเป็นมูลค่ารวม 3.68 แสนล้านดอลล่าร์ฯต่อปีเพื่อตั้งรับปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน “รัฐบาลต้องระดมเงินจำนวนนี้และแน่ใจว่าเงินถึงมือองค์กรระดับรากหญ้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด”

เป็นที่น่าผิดหวังว่ามติเรื่องการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารมิได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบอาหารและพลังงานฟอสซิล และความจำเป็นที่จะต้องลดการลงทุนในภาคพลังงานฟอสซิลและภาคเกษตร จากรายงานของ World Bank ในเดือนมิถุนายนพบว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆใช้งบประมาณจำนวนรวม 6.35 แสนล้านดอลล่าร์ฯต่อปีสนับสนุนการเกษตรที่ไม่ยั่งยืน เช่นการใช้ปุ๋ยเคมี และการทำฟาร์มถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน และเนื้อวัวที่ทำให้เราสูญเสียพื้นที่ป่าไปร้อยละ 14

Patty Fong แห่งเครือข่าย Global Alliance for the Future of Food กล่าวในที่ประชุม COP28 ว่างานวิจัยของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าระบบอาหารและพลังงานแยกจากกันไม่ออก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อยร้อยละ 15 มาจากระบบอาหารและการผลิตสารเคมีเพื่อการเกษตรอย่างปุ๋ยเคมี การแปรรูปอาหาร การบรรจุหีบห่อและขนส่ง อย่างไรก็ตาม บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต่างก็รับเอาธีมของการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารไปปฏิบัติ เริ่มจากการประกาศลดปริมาณการปล่อยมีเธนและริเริ่มเกษตรกรรมทางเลือกในสายการผลิตของตน

บริษัทอย่าง Danone, Nestle, General Mills, และ Kraft Heinz เป็นบริษัทที่ร่วมลงนามตั้งกองทุนปกป้องสิ่งแวดล้อมชื่อ Dairy Methane Action Alliance มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่และดำเนินการตามแผนลดมีเธนภายในสิ้นปี 2024 นอกจากนี้ Danone และ Nestle ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่วางโดย World Economic Forum ที่มีชื่อว่า First Movers Coalition for Food ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดคาร์บอนในภาคการเกษตรเช่นเดียวกับที่ First Movers Coalition จาก COP26 เคยทำมาแล้วในภาคอุตสาหกรรมหนัก

บริษัทผู้ผลิตอาหารกว่าสิบบริษัทรวมทั้ง Bayer, Cargill, Louis Dreyfus, Olam Agri และ PepsiCo จะร่วมทำข้อตกลงร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนในระบบผลิตอาหารที่ยั่งยืน นาย Borge Brende ประธานของ World Economic Forum ให้สัมภาษณ์ โดยเฟสแรกจะมุ่งไปที่ข้าว เนื้อวัว นมวัว และธัญพืชดิบที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 50 ของปริมาณที่ปล่อยจากภาคเกษตรทั้งหมด

นาย Laurent Freixe ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Nestle สาขาละตินอเมริกากล่าวว่าเมื่อสองปีที่แล้ว บริษัทได้ลงทุนในกลยุทธ์ Generation Regeneration เป็นเงินจำนวน 1.2 พันล้านฟรังก์สวิสเพื่อพัฒนาแนวทางเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดินขั้นสูงในเครือข่ายเกษตรกรจำนวน 500,000 ราย และตั้งเป้าหมายใช้ผลผลิตจากโครงการนี้ในการทดแทนผลผลิตร้อยละ 20 ของผลผลิตแบบเก่าภายในปี 2025 และร้อยละ 50 ภายในปี 2030 ตามลำดับ

“การทำงานร่วมกับบริษัทที่มีความคิดเหมือนกันอย่าง WEF ภายใต้กรอบดำเนินการของ COP จะช่วยเร่งกระบวนการ ระดมทุน และสร้างผลลัพธ์ตามที่ต้องการ” Laurent Freixe ให้สัมภาษณ์

ส่วนโครงการอื่นๆที่ก่อตั้งโดยประธาน COP28 ก็ได้แก่บริษัทผลิตอาหารจำนวน 26 ราย ร่วมกับ World Business Council for Sustainable Development และ Boston Consulting Group เพื่อพลิกที่ดินขนาด 1.6 ล้านตารางกิโลเมตรในรัฐปารา ประเทศบราซิลให้เป็นพื้นที่เกษตรปฏิรูปภายในปี 2030 และที่ผ่านมาโครงการได้ฟื้นฟูที่ดินไปแล้ว 5 แสนตารางกิโลเมตรโดยใช้ตัวชี้วัดผลลัพธ์ใน 5 มิติได้แก่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำ และคุณภาพชีวิตเกษตรกร

นาง Diane Holdorf รองประธานบริหารของ WBCSD ประกาศกับ The Ethical Corporation ว่าการริเริ่มโครงการเกษตรปฏิรูปของบริษัทที่ชื่อว่า Action Agenda on Regenerative Landscapes มีจุดมุ่งหมายที่ “ต้องการเพิ่มเงินลงทุนภาคเอกชนในเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดินให้แพร่หลายจนเกิดข้อมูลในระดับเครือข่าย ระดับสายพันธุ์ข้าว และระดับประเทศในปริมาณที่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจได้ และเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวก็อาจลดความเสี่ยงของการเพิ่มทุนได้” แต่คำประกาศนี้ต้องการการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อปลดล็อคการลงทุนในเกษตรปฏิรูปเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือไปจากตลาดคาร์บอน

“เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการนี้ ดังนั้นเราต้องรู้ว่าเราต้องการข้อมูลอะไรบ้าง จะเก็บข้อมูลอย่างไร จะพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูลได้อย่างไร และการบัญชีการเงินประเภทใดที่นำมาใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนตลอดทั้งสายการผลิต ซึ่งอาจเป็นเครดิตที่ได้จากการที่บริษัทบรรลุเป้าหมาย Net Zero หรือด้วยการซื้อขายเครดิตกับบริษัทในภาคอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องการชดเชยคาร์บอน”

Morgan Gillespy ผู้บริหารระดับสูงของ Food and Land Use Coalition ที่เป็นกลุ่มองค์กรที่มีประธานร่วมกับเครือข่าย Alliance of Champions for Food Systems Transformation ให้สัมภาษณ์ว่าการที่เรายังไม่มีกรอบดำเนินการที่สามารถตรวจสอบการลงทุนภาคเอกชนในเกษตรปฏิรูปหมายความว่าเรากำลังเปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในดุลอำนาจเก่า กล่าวคือเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการใช้เกษตรปฏิรูปในที่ดินของตนจะกลายเป็นเจ้าของข้อมูลที่สำคัญต่อบริษัทและนักลงทุน

แม้แต่ระบบเกษตรที่มีความเป็นอุตสาหกรรมที่สูงมากอย่างระบบของสหรัฐอเมริกา ด้วยสายการผลิตขนาดยักษ์ของบริษัท โครงการนำร่องเกษตรปฏิรูปที่ดำเนินการโดย Nestle, Danone, และ Unilever ยังเริ่มหันไปสู่ระบบเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูที่ดิน นอกจากนี้ โครงการทดลองในอินเดียและเอธิโอเปียก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

“มันก็เหมือนการทำผ้านวมที่เย็บจากเศษผ้าหลายๆชิ้นต่อกัน” เธอพูด “โครงการนำร่องเกษตรปฏิรูปเหล่านี้เป็นโครงการขนาดเล็กและกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เรากำลังพยายามเชื่อมต่อพวกมันเข้าด้วยกันเพื่อเร่งหาวิธีการที่ดีที่สุดในพื้นที่ทีเหมาะสมที่สุดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ”

แต่เป้าหมายนี้ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ดังที่บริษัท Amaggi ที่เป็นบริษัทซื้อขายธัญพืชที่ใหญ่ที่สุดของประเทศบราซิลประสบอยู่ในการบริหารความเสี่ยงต่อการตัดไม้ทำลายป่า ตามที่ Juliana Lopes ผู้อำนวยการของ Amaggi ให้สัมภาษณ์ว่าบริษัทกำลังทดลองนำระบบเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูที่ดิน เช่นใช้สารออร์แกนิกแทนเคมีกำจัดศัตรูพืช ใช้การปลูกพืชหมุนเวียนแลไม่ต้องไถกลบเพื่อปลูกถั่วเหลืองและฝ้ายบนพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร และตั้งเป้าขยายไปจนทั่วทั้งพื้นที่ที่มีอยู่คือ 4,200 ตารางกิโลเมตร

“เราจ้างนักวิทยาศาสตร์มาทำงานในฟาร์มของเรา ถ้าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว Morgan Gillespy มาบอกผมว่าต่อไปเราจะต้องมีนักชีววิทยาศาสตร์ฝังตัวอยู่ที่ฟาร์มเพื่อสอนชาวนาใช้วิธีการเกษตรชีวภาพ ผมคงตอบว่า คุณบ้าไปแล้ว และผู้จัดการฟาร์มก็คงไม่สนใจคำพูดของเธอ แต่ในปัจจุบันพวกเขากลับทำงานร่วมกัน โดยเธอเริ่มเก็บข้อมูลจากกระบวนการ และพวกชาวนาก็เริ่มเข้าใจว่าวิทยาศาสตร์คือที่มาของทุกสิ่งทุกอย่าง พวกเขาต้องประชุมกันทุกวันเพื่อวางแผนการทำงานในวันนั้นเนื่องจากระบบเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูที่ดินเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง”

แต่การนำระบบเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูที่ดินมาใช้ไม่สามารถสำเร็จลงได้ในระยะเวลาอันสั้นเนื่องจากขาดข้อมูลผลกระทบจากแนวทางใหม่นี้ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งหากผลผลิตล้มเหลว “มันไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาระยะสั้นหรือเป็น KPI ที่ใช้รายงานตลาดหุ้นในสองสามปีเพียงเพราะว่าพวกเขาต้องการพันธบัตรเขียว (Green Bond) ตอนนี้ผมมีเพียงองค์ความรู้สำหรับการวิเคราะห์สถานการณ์ภายหลังจากที่ผ่านไป 10 ปีหรือ 15 ปี มันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับการทำไร่นา และอนาคตของเกษตรกรรม”

ฟาร์มของบริษัท Amaggi ผลิตธัญพืชคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของปริมาณซื้อขายทั้งหมด 19 ล้านตัน ดังที่ Juliana Lopes บอก Reuters ว่าในการสร้าง Impact อย่างแท้จริงนั้น เครือข่ายทั้งหมดของบริษัทจำนวน 6,000 รายจะต้องให้ความร่วมมือด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ตามที่ Carlos Nobre นักธรณีวิทยาและอุตุนิยมวิทยาชื่อดังชาวบราซิลเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าระบบเกษตรปฏิรูปนั้นมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์เพราะทำให้เกษตรกรรมมีภูมิคุ้มกันต่อภัยธรรมชาติที่ประเทศบราซิลประสบอยู่ เพียงแต่รัฐบาลบราซิลไม่สามารถนำเอาภาคเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 70 ของปริมาณทั้งหมดที่ทั้งประเทศปล่อยเข้ามาไว้ในกฎหมายกำกับดูแลตลาดคาร์บอน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแรงต้านต่อการเปลี่ยนแปลงและอำนาจทางการเมืองที่ควบคุมอยู่

“ผลผลิตกำลังตกต่ำ แต่สำหรับภาคเกษตรของบราซิลแล้ว ไม่ใช่แค่ที่บราซิลเท่านั้น แต่เป็นทั้งโลกนั่นแหละ ที่ปฏิเสธภาวะโลกร้อน” Carlos Nobre กล่าว


อ้างอิง : Analysis: COP28 put food system transformation on the menu, but who will pick up the bill?


Social Share